กฎกระทรวง
(พ.ศ. 2524)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะแต่งตั้ง
ให้เป็นนายตรวจได้ อย่างน้อยต้องมีความรู้หรือคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
คือ
(1) ได้รับประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ แผนกวิชา
ช่างก่อสร้าง แผนกวิชาช่างสำรวจ แผนกวิชาช่างโยธา และแผนกวิชาช่างเขียนแบบ
โยธา หรือ
(2) ได้รับประกาศนียบัตรตามที่ ก.พ. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับ
ตำแหน่งช่างโยธา 1 หรือเทียบเท่า
ข้อ 2 ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะแต่งตั้ง
ให้เป็นนายช่างได้ อย่างน้อยต้องมีความรู้หรือคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
คือ
(1) ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง แผนกวิชาช่างก่อสร้าง แผนกวิชาช่างสำรวจ
แผนกวิชาช่างโยธา และแผนกวิชาช่างเขียนแบบโยธา
(2) ได้รับประกาศนียบัตรตามที่ ก.พ.กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับ
ตำแหน่งช่างโยธา
(3) ได้รับประกาศนียบัตรวิชาช่างตรีตามหลักสูตรของทางราชการซึ่ง ก.พ.
ได้รับรองแล้ว หรือได้รับอนุญาตพิเศษให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
สาขา 1 วิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม หรือ
(4) เป็นผู้ที่มีความรู้หรือคุณวุฒิตามข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงนี้ และเป็น
ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป
ให้ไว้ ณ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ข้าราชการ
หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะแต่งตั้งให้เป็นนายตรวจหรือนายช่าง
ต้องมีความรู้หรือคุณวุฒิตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2524)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
บัตรประจำตัวนายช่าง และบัตรประจำตัวนายตรวจ ให้เป็นไปตามแบบ
ท้ายกฎกระทรวงนี้
ให้ไว้ ณ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้บัตรประจำตัว
นายช่าง และบัตรประจำตัวนายตรวจเป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[1]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2526)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 42 วรรคห้า แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`วัสดุก่อสร้างและสิ่งของ' หมายความว่า วัสดุก่อสร้างที่ถูกรื้อถอน รวมทั้ง
สิ่งของที่ขนออกจากอาคารส่วนที่มีการรื้อถอน
ข้อ 2 การยึดและเก็บรักษาไว้ หรือขายซึ่งวัสดุก่อสร้างและสิ่งของ และถือ
เงินไว้แทนตัวทรัพย์สิน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะกระทำได้ เมื่อ
(1) ศาลได้มีคำสั่งบังคับให้มีการรื้อถอนโดยให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้มี
หน้าที่ในการรื้อถอน
(2) เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนไว้ในบริเวณที่จะ
รื้อถอนแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
(3) เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ดำเนินการรื้อถอนเมื่อครบกำหนดเวลาตาม
ประกาศใน (2) แล้ว
ข้อ 3 การยึดวัสดุก่อสร้างและสิ่งของ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น
(1) ทำประกาศการยึดวัสดุก่อสร้างและสิ่งของ แล้วปิดไว้โดยเปิดเผย
ณ สถานที่ที่ยึด
(2) ทำบัญชีวัสดุก่อสร้างและสิ่งของ แล้วทำบันทึกการยึดไว้
(3) แจ้งการยึดวัสดุก่อสร้างและสิ่งของให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร
ผู้ดำเนินการ หรือผู้ควบคุมงานทราบ แล้วแต่กรณี
ให้นำมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับ
แก่การแจ้งยึดโดยอนุโลม
การยึดวัสดุก่อสร้างและสิ่งของครอบไปถึงดอกผลแห่งวัสดุก่อสร้างและสิ่งของ
นั้นด้วย
ข้อ 4 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าวัสดุก่อสร้างและ
สิ่งของนั้นได้มีการยึดแล้ว โดยผูกแผ่นเลขหมายแล้วประทับตราครั่งหรือปิดแผ่น
เลขหมายไว้ที่วัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึด หรือทำเครื่องหมายตามที่เห็นสมควร
ให้ตรงตามบัญชีวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึด ถ้าสามารถเก็บรวมเข้าหีบหรือตู้ได้
ให้รวมไว้แล้วปิดหีบหรือตู้ประทับตราครั่งอีกชั้นหนึ่ง
ข้อ 5 บัญชีวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึดให้แสดงรายละเอียด เช่น ชื่อ
ประเภท ตัวแบบ ลักษณะ จำนวน ขนาด น้ำหนัก สภาพ และราคาประมาณของ
วัสดุก่อสร้างและสิ่งของนั้น เป็นต้น
ถ้าวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึดเป็นของหลายสิ่งและมีราคาเล็กน้อย จะมัด
หรือกองรวมกันแล้วลงบัญชีเป็นรายการเดียวกันก็ได้
ถ้าวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึดเป็นชุดหรือสำรับ จะลงบัญชีรวมเป็นชุด
เป็นสำรับ หรือไม่รวมก็ได้
ข้อ 6 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเก็บรักษาวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึดไว้
ณ สถานที่ที่ยึด หรือจะนำไปเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร หาก
มีความจำเป็นจะจ้างคนดูแลรักษาหรือเช่าสถานที่ที่เก็บรักษาก็ได้
ข้อ 7 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นจดแจ้งไว้ในบัญชีวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึด
ว่าได้เก็บรักษาวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึดนั้นไว้อย่างไร รวมทั้งค่าใช้จ่ายใน
การยึดและเก็บรักษาด้วย
ข้อ 8 ให้เจ้าของทรัพย์สินมารับวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึดคืนภายใน
สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการยึดตามข้อ 3 (3) หากเจ้าของทรัพย์สินมิได้
มาขอรับคืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะนำวัสดุก่อสร้าง
และสิ่งของที่ยึดนั้นออกขายทอดตลาดก็ได้
ในกรณีที่บุคคลหลายคนต่างคนต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือเงิน
ที่ได้จากการขาย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้ผู้อ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทุกคน
ไปตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาล หากไม่มีการตกลงกันหรือนำคดีไปสู่ศาลภายใน
หกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่ง เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะนำวัสดุ
ก่อสร้างหรือสิ่งของที่ยึดนั้นออกขายทอดตลาดก็ได้
ถ้าวัสดุก่อสร้างและสิ่งของเป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็น
การเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจะเกินส่วนกับค่าวัสดุ
ก่อสร้างและสิ่งของ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะนำวัสดุก่อสร้างและสิ่งของนั้นออก
ขายทอดตลาดหรือจะขายโดยวิธีอื่นก่อนวันที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร
ผู้ดำเนินการ หรือผู้ควบคุมงาน ได้ทราบการแจ้งการยึดตามข้อ 3 (3) ก็ได้
ข้อ 9 ถ้าเจ้าของทรัพย์สินมารับวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึดคืนให้เจ้าของ
ทรัพย์สินชำระเงินค่าใช้จ่ายในการยึด ค่าเช่าสถานที่เก็บ ค่าจ้างดูแลรักษาและ
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการยึดและเก็บรักษาทรัพย์สินให้แก่เจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นก่อนที่จะรับวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึดนั้นคืนไป
ถ้าเจ้าของทรัพย์สินไม่ชำระเงินหรือชำระเงินไม่ครบตามวรรคหนึ่ง
เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะนำวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึดนั้นออกขายทอดตลาดก็ได้
และให้นำข้อ 19 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 10 การขายทอดตลาดวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่ยึด ให้เจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นทำประกาศโดยแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเท่าที่
จะระบุได้ เช่น ชื่อเจ้าของทรัพย์สิน วัน เวลาและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด ชื่อ
ประเภท ตัวแบบ ลักษณะ จำนวน ขนาด น้ำหนัก และสภาพของทรัพย์สินนั้น
เป็นต้น
ข้อ 11 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นปิดประกาศการขายทอดตลาดไว้โดย
เปิดเผย ณ สถานที่ที่มีการรื้อถอน สถานที่ที่จะขายทอดตลาด และที่ทำการของ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นก่อนวันขายทอดตลาดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ในกรณีที่ทราบตัวเจ้าของทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นส่งประกาศการขายทอดตลาดไปให้เจ้าของทรัพย์สินทราบก่อนวันขาย
ทอดตลาดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ให้นำมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาใช้
บังคับแก่การส่งประกาศการขายทอดตลาดโดยอนุโลม
ในกรณีที่เห็นสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะประกาศการขายทอดตลาด
ทางหนังสือพิมพ์หรือวิทยุกระจายเสียงก่อนวันขายทอดตลาดก็ได้
ในกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดร้องขอทรัพย์สินคืนก่อนหรือ
ในระหว่างการขายทอดตลาด ให้งดการขายทรัพย์สินนั้น
ข้อ 12 ถ้าทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ตาม
กฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นส่งประกาศการขายทอดตลาดไปยังกรมศิลปากรก่อนวัน
ขายทอดตลาดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ข้อ 13 ถ้าทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเป็นตู้นิรภัย หีบ หรือกำปั่นเหล็ก
เก็บทรัพย์สิน และปรากฏว่ายังเปิดไม่ได้ ให้จัดการเปิดก่อนจึงจะขายทอดตลาดได้
ข้อ 14 ในการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะตั้งเจ้าพนักงานคนใด
ให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานผู้ขายก็ได้
ก่อนเริ่มขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานผู้ขายอ่านประกาศการขายทอดตลาด
ณ สถานที่ที่จะขายทอดตลาดโดยเปิดเผย และให้ปฏิบัติดังนี้
(1) ให้แสดงการตกลงขายด้วยวิธีเคาะไม้
(2) ให้ร้องขานจำนวนเงินที่มีผู้สู้ราคาครั้งที่หนึ่ง 3 หน ถ้าไม่มีผู้สู้ราคา
สูงขึ้น ให้ร้องขานเป็นครั้งที่สองอีก 3 หน เมื่อไม่มีผู้สู้ราคาสูงกว่านั้นและ
ได้ราคาพอสมควรให้ลงคำสามพร้อมกับเคาะไม้ แต่ถ้าก่อนเคาะไม้มีผู้สู้ราคา
สูงขึ้นไปอีกให้ร้องขานราคาตั้งต้นใหม่ตามลำดับดังกล่าวแล้ว
(3) ถ้าผู้ราคาถอนคำสู้ราคาของตนก่อนเคาะไม้ ให้ตั้งต้นร้องขานใหม่
(4) เมื่อเห็นว่าราคาที่มีผู้สู้ราคาสูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ เจ้าพนักงาน
ผู้ขายอาจถอนทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้
(5) เมื่อเคาะไม้ตกลงขายแล้ว ผู้ซื้อต้องชำระเงินทันที เว้นแต่ทรัพย์สิน
มีราคาตั้งแต่ห้าพันบาทขึ้นไป เจ้าพนักงานผู้ขายอาจผ่อนผันให้ผู้ซื้อวางเงินมัดจำ
ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของราคาซื้อและทำสัญญาใช้เงินที่ค้างชำระภายในเวลา
ไม่เกินสิบห้าวันก็ได้ เมื่อได้ชำระเงินครบถ้วนแล้วจึงให้โอนมอบทรัพย์สินนั้นแก่
ผู้ซื้อไป
ข้อ 15 ให้เจ้าพนักงานผู้ขายทำบันทึกเหตุการณ์อันเกี่ยวกับการขาย
ทอดตลาดไว้ ถ้าทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดมีราคาตั้งแต่ห้าพันบาทขึ้นไปให้แสดง
จำนวนบุคคลซึ่งมาฟังการขายทอดตลาด ผู้สู้ราคา ตลอดจนจำนวนเงินที่สู้ราคากัน
เป็นลำดับไว้ด้วย
ข้อ 16 เมื่อการขายทอดตลาดบริบูรณ์แล้ว ถ้าผู้ซื้อไม่ชำระเงิน ไม่วาง
เงินมัดจำ หรือไม่ใช้เงินที่ค้างชำระตามสัญญา ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเอาทรัพย์สิน
นั้นออกขายทอดตลาดซ้ำอีก และแจ้งให้ผู้ซื้อทราบกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะ
ขายทอดตลาดด้วย เมื่อขายทอดตลาดครั้งหลังได้เงินเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายในการ
ขายทอดตลาดออกก่อน และถ้ายังไม่คุ้มราคาขายทอดตลาดครั้งก่อน ให้เจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นจัดการเรียกร้องให้ผู้ซื้อเดิมชำระเงินส่วนที่ยังขาดนั้น
ข้อ 17 การขายโดยวิธีอื่นตามข้อ 8 วรรคสาม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น
ขายตามวิธีที่เห็นสมควรและทำบันทึกเกี่ยวกับการขายนั้นไว้
ข้อ 18 ถ้าทรัพย์สินที่จะขายมีดอกผลเกิดในระหว่างการยึด ให้เจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นขายดอกผลนั้นได้ด้วย
ข้อ 19 เมื่อได้เงินจากการขายแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหักค่าใช้จ่าย
ในการยึด ค่าเช่าสถานที่เก็บ ค่าจ้างดูแลรักษา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ
การยึดและเก็บรักษาทรัพย์สินออกก่อน เหลือเท่าใดจึงคืนให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน
ในกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินไม่มารับคืน ให้ถือเงินไว้แทนตัวทรัพย์สินและ
นำฝากคลังในลักษณะเงินนอกงบประมาณ โดยให้นำระเบียบกระทรวงการคลัง
ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการมาใช้บังคับโดย
อนุโลม
ในกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินมิได้เรียกร้องเอกเงินนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่
มีการประกาศกำหนดรื้อถอน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นนำส่งคลังตามระเบียบดังกล่าว
โดยมิชักช้า
ให้ไว้ ณ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2526
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ ในกรณีที่
เจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคาร วัสดุก่อสร้างที่ถูกรื้อถอน
รวมทั้งสิ่งของที่ขนออกจากอาคารส่วนที่มีการรื้อถอนนั้น มาตรา 42 วรรคห้า
แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น
มีอำนาจยึดและเก็บรักษาไว้ หรือขายและถือเงินไว้แทนตัวทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[2]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (11) แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของ
คณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`อาคารอยู่อาศัย' หมายความว่า อาคารซึ่งโดยปกติบุคคลใช้อยู่อาศัยได้ทั้ง
กลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัยอย่างถาวรหรือชั่วคราว
`ตึกแถว' หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างติดต่อกันเป็นแถวยาวตั้งแต่สองคูหา
ขึ้นไป มีผนังร่วมแบ่งอาคารเป็นคูหาและประกอบด้วยวัสดุทนไฟเป็นส่วนใหญ่
`อาคารพาณิชย์' หมายความว่า อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการพาณิชยกรรม
หรือบริการธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตเทียบได้ไม่เกิน
5 แรงม้า และให้หมายความรวมถึงอาคารอื่นใดที่ก่อสร้างห่างจากถนนหรือ
ทางสาธารณะไม่เกิน 20.00 เมตร ซึ่งอาจใช้เป็นอาคารเพื่อประโยชน์ในการ
พาณิชยกรรมได้
`โรงงาน' หมายความว่า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็น
โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
`อาคารสาธารณะ' หมายความว่า อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคน
ได้โดยทั่วไป เพื่อกิจกรรมทางราชการ การเมือง การศึกษา การศาสนา การสังคม
การนันทนาการ หรือการพาณิชยกรรม เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล
สถานศึกษา หอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง สถานกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า
ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อุโมงค์ สะพาน อาคารจอดรถ สถานีรถ
ท่าจอดเรือ โป๊ะจอดเรือ สุสาน ฌาปนสถาน ศาสนสถาน เป็นต้น
`อาคารพิเศษ' หมายความว่า อาคารที่ต้องการมาตรฐานความมั่นคง
แข็งแรงและความปลอดภัยเป็นพิเศษ เช่นอาคารดังต่อไปนี้
(ก) โรงมหรสพ อัฒจันทร์ หอประชุม หอสมุด หอศิลป์ พิพิธภัณฑสถาน
หรือศาสนสถาน
(ข) อู่เรือ คานเรือ หรือท่าจอดเรือ สำหรับเรือขนาดใหญ่เกิน 100 ตันกรอส
(ค) อาคารหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสูงเกิน 15.00 เมตร หรือสะพานหรืออาคาร
หรือโครงหลังคาช่วงหนึ่งเกิน 10.00 เมตร หรือมีลักษณะโครงสร้างที่อาจก่อให้เกิด
ภยันตรายต่อสาธารณชนได้
(ง) อาคารที่เก็บวัสดุไวไฟ วัสดุระเบิด หรือวัสดุกระจายแพร่พิษหรือรังสี
ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ข้อ 2 หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน
เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
หมวด 1
การก่อสร้างอาคาร
------
ข้อ 3 ในการก่อสร้างอาคาร ผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการต้องดำเนินการ
ให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการอนุญาต และต้องมีผู้ควบคุมงานตามที่ระบุชื่อไว้ใน
ใบอนุญาตอยู่ ณ ที่ทำการก่อสร้าง ถ้าผู้ควบคุมงานไม่อยู่ ต้องตั้งตัวแทนไว้ ทั้งนี้
ไม่ทำให้ผู้ควบคุมงานหลุดพ้นความรับผิด การสอบถามข้อเท็จจริงหรือคำสั่งของ
นายช่างหรือนายตรวจที่ได้สอบถามหรือสั่งแก่ผู้ควบคุมงานหรือตัวแทนนั้น ให้ถือว่า
ได้สอบถามหรือสั่งแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ดำเนินการแล้ว
ข้อ 4 ในการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยสูงเกินสองชั้น ตึกแถว อาคารพาณิชย์
โรงงาน อาคารสาธารณะหรืออาคารพิเศษ ก่อนเริ่มลงมือก่อสร้าง ผู้ดำเนินการ
ต้องติดป้ายขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 1.00 เมตร
ในบริเวณที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารและสามารถเห็นได้โดยง่ายตลอดเวลา
ที่ก่อสร้าง โดยแสดงข้อความดังต่อไปนี้
การก่อสร้างอาคารชนิด ..................................
จำนวน .............. เพื่อใช้เป็น ......................
ใบอนุญาตเลขที่ ............. ลงวันที่ ....................
กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ ..................................
เจ้าของอาคาร ........................................
ผู้ดำเนินการ ..........................................
ผู้ควบคุมงาน ................. เลขทะเบียน ก.ว. .........
ผู้ควบคุมงาน ................. เลขทะเบียน ก.ส. .........
ข้อ 5 ในการก่อสร้างอาคารที่ติดต่อกับที่สาธารณะ ผู้ดำเนินการจะก่อสร้าง
ได้เมื่อได้จัดให้มีสิ่งป้องกันวัสดุร่วงหล่นที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต
ร่างกาย หรือทรัพย์สินแล้ว
ข้อ 6 ผู้ดำเนินการต้องตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ใน
การก่อสร้างให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมและปลอดภัยกับการใช้งานอยู่เสมอ
ในกรณีที่ผู้ควบคุมงานเห็นว่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวิธีการก่อสร้างที่ใช้
ดำเนินการอยู่ อาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน
ผู้ควบคุมงานต้องแจ้งให้ผู้ดำเนินการทราบเพื่อจัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง
เครื่องมือเครื่องใช้หรือวิธีการก่อสร้างให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมและปลอดภัย
ข้อ 7 ผู้ดำเนินการจะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันอาจเป็นภยันตรายต่อ
สุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
ในกรณีที่ผู้ดำเนินการได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ติดตั้ง กอง
หรือเก็บ เครื่องมือเครื่องใช้ วัสดุก่อสร้าง หรือชิ้นส่วนโครงสร้างในที่สาธารณะ
เป็นการชั่วคราว ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ
ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน และติดตั้งไฟให้มีแสงสว่างเพียงพอในเวลาระหว่าง
พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้นด้วย
ข้อ 8 วัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารที่เกี่ยวกับการรับน้ำหนัก ความต้านทาน
ความคงทน หรือความปลอดภัย ต้องมีลักษณะหรือคุณสมบัติตามที่กำหนดในแบบแปลน
รายการประกอบแบบแปลนและรายการคำนวณที่ได้รับอนุญาต
ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือมีลักษณะและ
คุณสมบัติต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ให้ผู้ได้รับอนุญาต ผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงาน
ส่งวัสดุก่อสร้างในปริมาณที่สมควรและโดยไม่คิดมูลค่าให้นายช่างตรวจสอบต่อไป
ข้อ 9 การทำฐานรากของอาคารโดยใช้เสาเข็มด้วยการเจาะ กดหรือ
ตอก และการขุดดิน ผู้ดำเนินการจะกระทำได้เฉพาะในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น
ถึงพระอาทิตย์ตก ถ้าจะกระทำในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น
ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่าง
ข้อ 10 ในการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10.00 เมตร ขึ้นไป
ที่มีระยะราบวัดจากแนวอาคารด้านนอกถึงที่สาธารณะ หรือที่ดินต่างเจ้าของหรือ
ผู้ครอบครองน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของความสูงของอาคารนั้น ผู้ได้รับอนุญาตหรือ
ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีรั้วชั่วคราวสูงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ปิดกั้นตาม
แนวเขตที่ติดต่อกับที่สาธารณะหรือที่ดินต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และมี
สิ่งป้องกันวัสดุร่วงหล่นที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือ
ทรัพย์สินด้วย
ในกรณีที่ก่อสร้างอาคารตามวรรคหนึ่งชิดที่ดินต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครอง
หากได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นว่าไม่ต้อง
จัดให้มีรั้วชั่วคราว ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ดำเนินการไม่ต้องจัดให้มีรั้วชั่วคราว
ดังกล่าว
เมื่อก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ ผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการต้อง
รื้อถอนรั้วชั่วคราวและสิ่งป้องกันวัสดุร่วงหล่นนั้นโดยพลัน
ข้อ 11 ในระหว่างการก่อสร้างอาคาร ผู้ดำเนินการต้องตรวจสอบ
ความแข็งแรงและความปลอดภัยของนั่งร้านที่สร้างขึ้นเป็นประจำ โดยบันทึก
ผลการตรวจสอบและลงลายมือชื่อไว้ทุกเดือน เก็บไว้ ณ สถานที่ที่ก่อสร้าง
เพื่อให้นายช่างหรือนายตรวจตรวจดูได้ การสร้างนั่งร้านต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข
ดังต่อไปนี้
(ก) นั่งร้านที่ใช้สำหรับการก่อสร้างอาคารที่สูงเกินห้าชั้นหรือมี
ความสูงเกิน 21.00 เมตร ผู้ดำเนินการต้องยื่นแผนผัง บริเวณ แบบแปลน
และรายการประกอบแบบแปลนของนั่งร้านซึ่งออกแบบคำนวณโดยผู้ได้รับใบอนุญาต
ให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม
ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักฐานก่อน จึงจะสร้างนั่งร้านดังกล่าวได้
(ข) นั่งร้านที่สร้างด้วยโลหะรวมทั้งฐานรองรับนั่งร้านต้องรับน้ำหนักได้
ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักบรรทุกสูงสุดที่บรรทุกบนนั่งร้านนั้น และไม่น้อยกว่า
สี่เท่าสำหรับนั่งร้านที่สร้างด้วยไม้
ข้อ 12 ก่อนเริ่มลงมือก่อสร้างอาคาร ผู้ดำเนินการต้องสำรวจรายละเอียด
ตำแหน่ง ความลึกและขนาดของโครงสร้างใต้ดิน ฐานรากอาคารข้างเคียง หรือ
สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เช่น ท่อประปา สายเคเบิล เป็นต้น และวางมาตรการอย่างหนึ่ง
อย่างใดเพื่อป้องกันมิให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
ข้อ 13 เมื่อมีการขุดดินในบริเวณที่ติดต่อกับที่สาธารณะหรือในที่สาธารณะ
ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีสิ่งกันตกหรือราวกั้นรอบบริเวณนั้นและติดตั้งป้ายเตือน
อันตรายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งติดตั้งไฟให้มีแสงสว่างเพียงพอ
หรือไฟสัญญาณสีแดงกระพริบเตือนอันตรายจำนวนพอสมควรในเวลาระหว่าง
พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้นด้วย
ข้อ 14 เมื่อมีการขุดดินในบริเวณที่ใกล้หรือติดต่อกับสาธารณะห้าม
ผู้ดำเนินการกองดินบนที่สาธารณะและขุดเซาะดินล้ำเขตที่สาธารณะนั้น เว้นแต่
จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ข้อ 15 เมื่อมีการขุดดินในบริเวณที่ใกล้หรือชิดอาคาร ถนน หรือกำแพง
ลึกจนอาจเป็นอันตรายแก่อาคาร ถนน หรือกำแพงนั้น ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มี
ค้ำยัน หรือฐานรากเสริมตามความจำเป็นเพื่อความปลอดภัย และต้องตรวจสอบ
แก้ไขค้ำยัน เข็มพืด และฐานรากดังกล่าวให้มีสภาพมั่นคงและปลอดภัยอยู่เสมอ
ข้อ 16 การกองวัสดุ เช่น หิน ทราย หรือดิน เป็นต้น ในบริเวณที่ใกล้
หรือชิดขอบบ่อที่ขุด ผู้ดำเนินการต้องกองห่างจากขอบบ่อพอสมควร เพื่อป้องกัน
มิให้ผนังบ่อเสียหายและมิให้วัสดุร่วงหล่นที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ขุดได้
ข้อ 17 ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีหมวกแข้ง ภายในหมวกต้องมีรองใน
หมวกที่ทำด้วยหนัง พลาสติก ผ้า หรือวัสดุอื่น เพื่อป้องกันภยันตรายต่อศรีษะ
ให้แก่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่ในบริเวณที่ก่อสร้างอาคาร
ข้อ 18 ห้ามผู้ดำเนินการนำเครื่องมือที่เป็นสื่อไฟฟ้าไปใช้ปฏิบัติงานใกล้
สายไฟฟ้าแรงสูงหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง เว้นแต่จะได้รับกระทำการอย่างหนึ่ง
อย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) มีแผงฉนวนกั้นระหว่างส่วนที่มีกระแสไฟฟ้าแรงสูงกับเครื่องมือนั้น
(ข) เครื่องมือนั้นได้ต่อสายดินไว้เรียบร้อยแล้ว
(ค) สายไฟฟ้าแรงสูงหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงนั้นได้หุ้มฉนวนอย่างดีแล้ว
(ง) ได้ตัดกระแสไฟฟ้าออกจากสายไฟฟ้าแรงสูงหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง
นั้นแล้ว
ข้อ 19 ผู้ดำเนินการต้องใช้โซ่ เชือก ลวดสะลิง รอกที่ใช้งานปั้นจั่น
หรือลิฟต์ส่งของ ที่มีสภาพแข็งแรงและมีขนาดพอที่จะใช้ในการยกการวาง และ
ยกน้ำหนักสิ่งของให้ลอยตัวอยู่ที่จุดหนึ่งจุดใดได้โดยปลอดภัย
ข้อ 20 เมื่อหยุดการใช้ปั้นจั่นหรือลิฟต์ส่งของประจำวัน ผู้ดำเนินการ
ต้องจัดให้มีการป้องกันมิให้ปั้นจั่น หรือลิฟต์ส่งของนั้นเลื่อน ล้มหรือหมุน อันอาจ
เป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
ข้อ 21 ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีผู้ควบคุมที่มีความชำนาญควบคุมการใช้
เครื่องมือกล เครื่องกลจักร หรือเครื่องจักรกล และต้องตรวจสอบและบำรุง
รักษาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมและปลอดภัยกับการใช้งานอยู่เสมอ
*[12]
`ข้อ 21 ทวิ ในกรณีที่มีการติดตั้งลูกกรง เหล็กดัด หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะ
ทำนองเดียวกันที่ประตูหน้าต่างหรือที่ด้านนอกหรือด้านในของอาคารตั้งแต่ชั้นที่สอง
ขึ้นไป อันเป็นการกีดขวางการหนีออกจากอาคาร หรือการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ใน
อาคารเมื่อเกิดอัคคีภัยโดยไม่มีช่องทางอื่นที่จะออกสู่ภายนอกได้ ให้ผู้ได้รับ
ใบอนุญาตหรือผู้ดำเนินการจัดให้มีช่องทางที่เปิดออกสู่ภายนอกได้ทันที ขนาดกว้าง
ไม่น้อยกว่า 0.06 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 0.08 เมตร อย่างน้อยหนึ่งช่องทาง
ในแต่ละชั้นของอาคารหรือของคูหา'
หมวด 2
การดัดแปลงอาคาร
------
ข้อ 22 ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้างอาคาร
ตามหมวด 1 มาใช้บังคับแก่การดัดแปลงอาคารโดยอนุโลม
หมวด 3
การรื้อถอนอาคาร
------
ข้อ 23 ผู้ควบคุมงานต้องศึกษารายละเอียดโครงสร้างของอาคารที่จะ
รื้อถอน รวมทั้งสภาพแวดล้อมด้วยความรอบคอบ และต้องควบคุมการปฏิบัติงาน
ของผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน วิธีการ และมีความปลอดภัยในการรื้อถอน
อาคารตามที่ได้รับอนุญาต ถ้าผู้ดำเนินการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการ
หรืออาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ผู้ควบคุมงาน
ต้องให้ผู้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหรือให้มีความปลอดภัย
ข้อ 24 ก่อนรื้อถอนอาคารส่วนใด ผู้ดำเนินการต้องตรวจสอบและหา
วิธีการป้องกันสิ่งบริการสาธารณะ เช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ ประปา หรือท่อก๊าซ
เป็นต้น และส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่อาจตกหล่น เพื่อมิให้เกิดภยันตรายต่อ
สุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินในขณะที่รื้อถอนอาคารส่วนนั้น
ข้อ 25 ในระหว่างการรื้อถอนอาคาร ผู้ดำเนินการต้องติดตั้งป้ายเตือน
อันตราย และต้องแสดงขอบเขตการรื้อถอนอาคารพร้อมด้วยไฟสัญญาณสีแดงกระพริบ
เตือนอันตรายจำนวนพอสมควรไว้รอบบริเวณที่จะรื้อถอน เพื่อเตือนไม่ให้บุคคล
ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณนั้น และต้องจัดให้มีพนักงานสำหรับห้าม
บุคคลซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งดูแลความเรียบร้อย
ของป้ายเตือนอันตรายและไฟสัญญาณด้วย
การรื้อถอนอาคาร ผู้ดำเนินการจะกระทำได้เฉพาะในเวลาระหว่าง
พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ถ้าจะกระทำในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกถึง
พระอาทิตย์ขึ้นต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และต้องจัด
ให้มีแสงสว่างเพียงพอด้วย
ข้อ 26 การรื้อถอนอาคารที่ใกล้หรือติดต่อกับที่สาธารณะ อาคารอื่น
หรือที่ดินต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครองน้อยกว่า 2.00 เมตร ผู้ดำเนินการต้อง
จัดให้มีการป้องกันฝุ่นละอองและเศษวัสดุร่วงหล่นที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ
ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
ข้อ 27 การรื้อถอนอาคารที่มีความสูงเกิน 15.00 เมตร และอยู่ห่าง
จากทางหรือที่สาธารณะตามแนวราบน้อยกว่า 4.50 เมตร ผู้ดำเนินการต้องจัด
ให้มีสิ่งป้องกันวัสดุที่อาจร่วงหล่นคลุมทางหรือที่สาธารณะนั้น ถ้ามีทางเดินเท้า
ตามแนวทางหรือที่สาธารณะ ผู้ดำเนินการต้องสร้างหลังคาที่มั่นคงแข็งแรงและ
ขนาดใหญ่เพียงพอที่จะป้องกันเศษวัสดุที่อาจร่วงหล่นเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ
ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ตลอดแนวของอาคารที่จะรื้อถอนนั้นด้วย
ข้อ 28 การรื้อถอนผนังอาคารด้านนอกที่สูงจากพื้นดินเกิน 8.00 เมตร
และอยู่ห่างจากอาคารอื่น ทาง หรือที่สาธารณะตามแนวราบน้อยกว่าความสูง
ของอาคาร ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีแผงรับวัสดุที่อาจร่วงหล่นจากการรื้อถอน
ตลอดแนวด้านนอกของผนังของอาคารด้านนั้น แนวรับวัสดุดังกล่าวต้องมีความ
มั่นคงแข็งแรงและขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสามารถรองรับวัสดุที่ร่วงหล่นได้ และ
ต้องติดตั้งให้เอียงลาดเพื่อป้องกันวัสดุที่ร่วงหล่นกระเด็นออกมานอกแผงหรือ
กองค้างอยู่ในแผงรับนั้น
ข้อ 29 การขนถ่ายวัสดุที่รื้อถอนลงจากที่สูงมาสู่ที่ต่ำ ผู้ดำเนินการต้อง
กระทำโดยใช้รางหรือสายพานเลื่อนที่มีความลาดเหมาะสมและปลอดภัยจากการ
ตกหล่น สำหรับการขนถ่ายวัสดุโดยลิฟต์ส่งของหรือปั้นจั่น หรือโยนหรือทิ้ง เป็นต้น
ผู้ดำเนินการจะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดให้มีการป้องกันภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต
ร่างกาย หรือทรัพย์สินแล้ว
ห้ามผู้ดำเนินการกองวัสดุที่รื้อถอนไว้บนพื้นหรือส่วนของอาคารที่สูงกว่า
พื้นดิน
หมวด 4
การเคลื่อนย้ายอาคาร
------
ข้อ 30 ผู้ควบคุมงานต้องศึกษารายละเอียดโครงสร้างของอาคารที่จะ
เคลื่อนย้ายรวมทั้งสภาพแวดล้อมด้วยความรอบคอบ และต้องควบคุมการปฏิบัติงาน
ของผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน วิธีการ และมีความมั่นคง แข็งแรง และ
ความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายอาคารตามที่ได้รับอนุญาต ถ้าผู้ดำเนินการปฏิบัติ
ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการ หรืออาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต
ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ผู้ควบคุมงานต้องให้ผู้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหรือให้มี
ความปลอดภัย
ข้อ 31 ก่อนเคลื่อนย้ายอาคาร ผู้ดำเนินการต้องตรวจสอบการหาวิธีการ
ป้องกันสิ่งบริการสาธารณะ เช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ ประปา หรือท่อก๊าซ เป็นต้น
และส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่อาจตกหล่น เพื่อมิให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต
ร่างกาย หรือทรัพย์สินในขณะที่เคลื่อนย้ายอาคาร
ข้อ 32 ในระหว่างที่ดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างของอาคาร เช่น ตัด
สกัด รื้อ หรือถอน เป็นต้น เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายอาคารไปจากที่ตั้งเดิม และ
ในระหว่างที่เชื่อมต่อหรือติดตั้งโครงสร้างของอาคารที่เคลื่อนย้ายในสถานที่ใหม่
รวมทั้งในระหว่างการเคลื่อนย้ายอาคาร ผู้ดำเนินการต้องติดตั้งป้ายเตือนอันตราย
พร้อมด้วยไฟสัญญาณสีแดงกระพริบเตือนอันตรายไว้รอบบริเวณดังกล่าว โดยมีจำนวน
และระยะห่างจากอาคารพอสมควร เพื่อเตือนไม่ให้บุคคลซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
เข้าไปในบริเวณนั้น และต้องจัดให้มีพนักงานสำหรับห้ามบุคคลซึ่งไม่มีหน้าที่
เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งดูแลความเรียบร้อยของป้ายเตือน
อันตรายและไฟสัญญาณด้วย
การเคลื่อนย้ายอาคาร ผู้ดำเนินการจะกระทำได้เฉพาะในเวลาระหว่าง
พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ถ้าจะกระทำในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกถึง
พระอาทิตย์ขึ้นต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่าง
ข้อ 33 การเคลื่อนย้ายอาคาร ผู้ดำเนินการจะต้องไม่กระทำการใด ๆ
อันอาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
ในกรณีที่ผู้ดำเนินการได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ติดตั้ง กอง
หรือเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ วัสดุก่อสร้าง หรือชิ้นส่วนโครงสร้างในที่สาธารณะ
เป็นการชั่วคราว ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ
ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน และติดตั้งไฟให้มีแสงสว่างเพียงพอในเวลาระหว่าง
พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้นด้วย
หมวด 5
การใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
------
ข้อ 34 เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ต้องดูแล
รักษาและซ่อมแซมอาคารให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ
และมิให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินตลอดเวลาที่ใช้
อาคารนั้น
ข้อ 35 เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารประเภทควบคุมการใช้ต้องใช้
หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารดังกล่าว โดยมิให้มีการกระทำที่อาจก่อให้เกิด
เหตุรำคาญหรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอันเป็นภยันตราย
ต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
ข้อ 36 ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่ไม่เป็นอาคารประเภท
ควบคุมการใช้ จะใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารดังกล่าวเป็นอาคารประเภท
ควบคุมการใช้ และได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้นำข้อ 34 และข้อ 35 มาใช้บังคับ
โดยอนุโลม
ให้นำวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การเปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุม
การใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่ง
โดยอนุโลม
ให้ไว้ ณ วัน 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
มาตรา 8 (11) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติให้
รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารมีอำนาจออกกฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย
หรือใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย
การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง
การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ตลอดจนการอื่น
ที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออก
กฎกระทรวงนี้
*[3]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2527)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 อาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 (2) ตามกฎกระทรวงนี้ คือ
(1) อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม
(2) อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการอุตสาหกรรม
(3) อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการการศึกษา
(4) อาคารสำหรับใช้เป็นหอประชุม
(5) อาคารสำหรับใช้เป็นสำนักงานหรือที่ทำการ
ข้อ 2 อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม ได้แก่อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์
ในการประกอบกิจการค้าหรือธุรกิจที่มีพื้นสำหรับประกอบกิจการตั้งแต่แปดสิบตารางเมตร
ขึ้นไป
ข้อ 3 อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการอุตสาหกรรม ได้แก่อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์
ในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรในการผลิตมีกำลังรวมกันหรือกำลัง
เทียบเท่าตั้งแต่ห้าแรงม้าขึ้นไป
ข้อ 4 อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการการศึกษา ได้แก่อาคารที่ใช้เป็นสถานที่เพื่อ
ประโยชน์ในการให้การศึกษาที่มีพื้นที่สำหรับประกอบกิจการตั้งแต่แปดสิบตารางเมตร
ขึ้นไป
ข้อ 5 อาคารสำหรับใช้เป็นหอประชุม ได้แก่อาคารที่ใช้เป็นที่ชุมนุมหรือประชุม
ที่มีพื้นที่ตั้งแต่สามร้อยตารางเมตรขึ้นไป
ข้อ 6 อาคารสำหรับใช้เป็นสำนักงานหรือที่ทำการ ได้แก่อาคารที่ใช้เป็น
สำนักงานหรือที่ทำการที่มีพื้นที่ตั้งแต่สามร้อยตารางเมตรขึ้น
ข้อ 7 ในการคิดคำนวณพื้นที่ ให้นำพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการและอยู่
ภายในอาคารนั้นมารวมคำนวณด้วย
ในกรณีที่พื้นที่ตามวรรคหนึ่งอยู่ในตึกแถวหรือห้องแถว ให้นำพื้นที่ที่
เกี่ยวเนื่องกับกิจการในแต่ละห้องหรือแต่ละคูหามาคำนวณรวมกัน
ให้ไว้ ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2527
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
----------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการ
สมควรกำหนดลักษณะของอาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม
การศึกษาและเพื่อกิจการอื่น ที่จะให้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตาม
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และโดยที่มาตรา 32 (2) แห่ง
พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้กำหนดโดยกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออก
กฎกระทรวงนี้
*[4]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (2) และ (3)
แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`แรงประลัย' หมายความว่า แรงขนาดที่จะทำให้วัตถุนั้นแตกแยกออก
ห่างจากกันเป็นส่วนหรือทลายเข้าหากัน
`แรงดึง' หมายความว่า แรงที่จะทำให้วัตถุแยกออกห่างจากกัน
`แรงอัด' หมายความว่า แรงที่จะทำให้วัตถุทลายเข้าหากัน
`แรงดัด' หมายความว่า แรงที่จะทำให้วัตถุโค้งหรือโก่งตัว
`แรงลม' หมายความว่า แรงของลมที่กระทำต่อโครงสร้าง
`แรงเฉือน' หมายความว่า แรงที่จะทำให้วัตถุขาดออกจากกันดุจกรรไกรตัด
`แรงดึงประลัย' หมายความว่า แรงดึงขนาดที่จะทำให้วัตถุนั้นแยกออก
ห่างจากกันเป็นส่วน
`แรงอัดประลัย' หมายความว่า แรงอัดขนาดที่จะทำให้วัตถุนั้นทลายเข้าหากัน
`แรงอัดประลัยของคอนกรีต' หมายความว่า แรงอัดตามแกนยาวขนาดที่จะ
ทำให้แท่งคอนกรีตทรงกระบอกที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร
อายุยี่สิบแปดวันทลายเข้าหากัน
`หน่วยแรง' หมายความว่า แรงหารด้วยพื้นที่หน้าตัดที่รับแรงนั้น
`หน่วยแรงพิสูจน์' หมายความว่า หน่วยแรงดึงที่ได้จากการลากเส้นตรง
ที่จุด 0.2 ใน 100 ส่วนของความเครียด ให้ขนานกับส่วนที่เป็นเส้นตรงของเส้น
แสดงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยแรงดึงและความเครียดไปตัดกับเส้นนั้น
`หน่วยแรงฝืด' หมายความว่า หน่วยแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผิวเข็มกับดิน
`หน่วยแรงที่ขีดปฏิภาค' หมายความว่า หน่วยแรงที่จุดสูงสุดของส่วนที่เป็น
เส้นตรงของเส้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยแรงและความเครียด
`ความเครียด' หมายความว่า อัตราส่วนของส่วนยืดหรือส่วนหดของวัสดุ
ที่รับแรงต่อความยาวเดิมของวัสดุนั้น
`กำลังคราก' หมายความว่า หน่วยแรงดึงที่วัสดุเริ่มยืดโดยไม่ต้องเพิ่ม
แรงดึงขึ้นอีก
`ส่วนปลอดภัย' หมายความว่า ตัวเลขที่ใช้หารหน่วยแรงประลัยลงให้
ถึงขนาดที่จะใช้ได้ปลอดภัยสำหรับวัสดุที่มีกำลังครากหรือหน่วยแรงพิสูจน์ ให้ใช้
ค่ากำลังครากหรือหน่วยแรงพิสูจน์นั้นแทนหน่วยแรงประลัย
`น้ำหนักบรรทุกจร' หมายความว่า น้ำหนักที่กำหนดว่าจะเพิ่มขึ้นบนอาคาร
นอกจากน้ำหนักของตัวอาคารนั้นเอง
`น้ำหนักบรรทุกประลัย' หมายความว่า น้ำหนักบรรทุกสูงสุดที่กำหนดให้ใช้
ในการคำนวณตามทฤษฎีกำลังประลัย
`ส่วนต่าง ๆ ของอาคาร' หมายความว่า ส่วนของอาคารที่จะต้องแสดง
รายการคำนวณการรับน้ำหนักและกำลังต้านทาน เช่น แผ่นพื้น คาน เสา และ
รากฐาน เป็นต้น
`คอนกรีต' หมายความว่า วัสดุที่ประกอบขึ้นด้วยส่วนผสมของปูนซีเมนต์
มวลผสมละเอียด เช่น ทราย มวลผสมหยาบ เช่น หินหรือกรวด และน้ำ
`คอนกรีตเสริมเหล็ก' หมายความว่า คอนกรีตที่มีเหล็กเสริมฝังภายใน
ให้ทำหน้าที่รับแรงได้มากขึ้น
`คอนกรีตอัดแรง' หมายความว่า คอนกรีตที่มีเหล็กเสริมอัดแรงฝังภายใน
ที่ทำให้เกิดหน่วยแรงที่มีปริมาณพอจะลบล้างหน่วยแรงอันเกิดจากน้ำหนักบรรทุก
`เหล็กเสริม' หมายความว่า เหล็กที่ใช้ฝังในเนื้อคอนกรีตเพื่อเสริมกำลังขึ้น
`เหล็กเสริมอัดแรง' หมายความว่า เหล็กเสริมกำลังสูงที่ใช้ฝังในเนื้อ
คอนกรีตอัดแรง อาจเป็นลวดเส้นเดียว ลวดพันเกลียว หรือลวดเหล็กกลุ่มก็ได้
`เหล็กข้ออ้อย' หมายความว่า เหล็กเสริมที่มีบั้งและหรือมีครีบที่ผิว
`เหล็กขวั้น' หมายความว่า เหล็กเสริมที่บิดเป็นเกลียว
`เหล็กหล่อ' หมายความว่า เหล็กที่มีธาตุถ่านผสมอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 2 ขึ้นไป
โดยน้ำหนัก
`เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ' หมายความว่า เหล็กที่ผลิตออกมามีหน้าตัด
เป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ใช้ในงานโครงสร้าง
`ไม้เนื้ออ่อน' หมายความว่า ไม้ที่ไม่คงทนต่อดินฟ้าอากาศและตัวสัตว์ เช่น
มอด ปลวก เป็นต้น และหรือมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14 เช่น ไม้ยาง หรือ
ไม้ตะแบก เป็นต้น
`ไม้เนื้อปานกลาง' หมายความว่า ไม้ที่คงทนต่อดินฟ้าอากาศและตัวสัตว์
เช่น มอด ปลวก เป็นต้น ได้ดีตามสภาพอันสมควร และหรือมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้
ในข้อ 14 เช่น ไม้สน เป็นต้น
`ไม้เนื้อแข็ง' หมายความว่า ไม้ที่คงทนต่อดินฟ้าอากาศและตัวสัตว์ เช่น
มอด ปลวก เป็นต้น ได้ดีตามสภาพอันสมควร และหรือมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ใน
ข้อ 14 เช่น ไม้เต็ง หรือไม้ตะเคียนทอง เป็นต้น
`ดิน' หมายความว่า วัสดุธรรมชาติที่ประกอบเป็นเปลือกโลก เช่น หิน
กรวด ทราย ดินเหนียว เป็นต้น
`กรวด' หมายความว่า ก้อนหินที่เกิดตามธรรมชาติขนาดโตเกิน 3 มิลลิเมตร
`ทราย' หมายความว่า ก้อนหินเม็ดเล็กละเอียดที่มีขนาดโตไม่เกิน 3 มิลลิเมตร
`ดินดาน' หมายความว่า ดินตะกอนของกรวด ทราย ดินเหนียว มีน้ำปูน
เป็นเชื้อประสาน มีลักษณะแข็งยากแก่การขุด
`หินดินดาน' หมายความว่า หินที่มีเนื้อละเอียดมาก ประกอบด้วยดินเหนียว
หรือทรายอัดตัวแน่นเป็นชั้นบาง ๆ จะมีเชื้อประสานหรือไม่ก็ได้
`หินปูน' หมายความว่า หินเนื้อแน่นละเอียดทึบมีสีต่าง ๆ กัน ประกอบด้วย
แร่แคลไซท์
`หินทราย' หมายความว่า หินเนื้อหยาบ ประกอบด้วยเม็ดทรายยึดตัวแน่น
ด้วยเชื้อประสาน
`หินอัคนี' หมายความว่า หินเนื้อหยาบเกิดจากการเย็นตัวของหินละลาย
ใต้พื้นโลก ประกอบด้วยแร่เฟลด์สปาร์ แร่ควอตซ์ เป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะแข็งแกร่ง
`เสาเข็ม' หมายความว่า เสาที่ตอกหรือหล่ออยู่ในดินเพื่อรับน้ำหนักบรรทุก
ของอาคาร
`พื้นผิวประสิทธิผลของเสาเข็ม' หมายความว่า ผลคูณของความยาวของ
เสาเข็มกับความยาวของเส้นล้อมรูปที่สั้นที่สุดของหน้าตัดปกติของเสาเข็มนั้น
`ฐานราก' หมายความว่า ส่วนของอาคารที่ใช้ถ่ายน้ำหนักอาคารลงสู่ดิน
`กำลังแบกทานของดิน' หมายความว่า ความสามารถที่ดินจะรับน้ำหนักได้
โดยมีการทรุดตัวขนาดที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคาร
`กำลังแบกทานของเสาเข็ม' หมายความว่า ความสามารถที่เสาเข็มจะ
รับน้ำหนักได้ โดยมีการทรุดตัวไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้
`สถาบันที่เชื่อถือได้' หมายความว่า ส่วนราชการ หรือนิติบุคคลซึ่งมีวิศวกร
ประเภทวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมเป็น
ผู้ให้คำแนะนำปรึกษาและลงลายมือชื่อรับรองผลการตรวจสอบงานวิศวกรรมควบคุม
ข้อ 2 อาคารและส่วนต่าง ๆ ของอาคารจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรงพอ
ที่จะรับน้ำหนักตัวอาคารเอง และน้ำหนักบรรทุกที่อาจเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นจริงได้โดยไม่ให้ส่วนใด ๆ ของอาคารต้องรับหน่วยแรง
มากกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่มีเอกสารแสดงผลการทดสอบความมั่นคง
แข็งแรงของวัสดุที่รับรองโดยสถาบันที่เชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงหน่วยแรงที่
กำหนดไว้ในข้อ 6
ข้อ 3 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยอิฐหรือคอนกรีตบล็อก
ประสานด้วยวัสดุก่อ ให้ใช้หน่วยแรงอัดได้ไม่เกิน 0.8 เมกาปาสกาล (8 กิโลกรัมแรง
ต่อตารางเซนติเมตร)
ข้อ 4 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยคอนกรีตไม่เสริมเหล็ก
ให้ใช้หน่วยแรงอัดได้ไม่เกินร้อยละ 33.3 ของหน่วยแรงอัดประลัยของคอนกรีต แต่ต้อง
ไม่เกิน 6 เมกาปาสกาล (60 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
ข้อ 5 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
ตามทฤษฎีอีลาสติกหรือหน่วยแรงปลอดภัย ให้ใช้ค่าหน่วยแรงอัดของคอนกรีตไม่เกิน
ร้อยละ 37.5 ของหน่วยแรงอัดประลัยของคอนกรีต แต่ต้องไม่เกิน 6.5 เมกาปาสกาล
(65 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
ข้อ 6 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
ตามทฤษฎีอีลาสติกหรือหน่วยแรงปลอดภัย เหล็กเสริมคอนกรีตที่ใช้ต้องมีกำลังคราก
ตั้งแต่ 240 เมกาปาสกาล (2,400 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) และให้ใช้
ค่าหน่วยแรงของเหล็กเสริมคอนกรีตได้ไม่เกินอัตราดังต่อไปนี้
(1) แรงดึง
(ก) เหล็กเส้นกลมผิวเรียบที่มีกำลังครากตั้งแต่ 240 เมกาปาสกาล
(2,400 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ขึ้นไปให้ใช้ไม่เกิน 120 เมกาปาสกาล
(1,200 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
(ข) เหล็กข้ออ้อยที่มีกำลังครากตั้งแต่ 240 เมกาปาสกาล
(2,400 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 350 เมกาปาสกาล
(3,500 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ให้ใช้ร้อยละ 50 ของกำลังคราก
แต่ต้องไม่เกิน 150 เมกาปาสกาล (1,500 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
(ค) เหล็กข้ออ้อยที่มีกำลังครากตั้งแต่ 350 เมกาปาสกาล
(3,500 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 400 เมกาปาสกาล
(4,000 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ให้ใช้ไม่เกิน 160 เมกาปาสกาล
(1,600 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
(ง) เหล็กข้ออ้อยที่มีกำลังครากตั้งแต่ 400 เมกาปาสกาล
(4,000 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ขึ้นไป ให้ใช้ไม่เกิน 170 เมกาปาสกาล
(1,700 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
(จ) เหล็กขวั้น ให้ใช้ร้อยละ 50 ของหน่วยแรงพิสูจน์ แต่ต้องไม่เกิน
240 เมกาปาสกาล (2,400 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ทั้งนี้ จะต้องมี
ผลการทดสอบการดัดเย็นโดยมีสถาบันที่เชื่อถือได้รับรอง
(2) แรงอัดในเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก
(ก) เหล็กเส้นกลมผิวเรียบตามเกณฑ์ที่กำหนดใน (1) (ก)
(ข) เหล็กข้ออ้อย ให้ใช้ร้อยละ 40 ของกำลังคราก แต่ต้องไม่เกิน
210 เมกาปาสกาล (2,100 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
(ค) เหล็กขวั้น ให้ใช้ร้อยละ 40 ของกำลังคราก แต่ต้องไม่เกิน
210 เมกาปาสกาล (2,100 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร) ทั้งนี้ จะต้องมี
ผลการทดสอบการดัดเย็นโดยมีสถาบันที่เชื่อถือได้รับรอง
(ง) เสาแบบผสมเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ให้ใช้ไม่เกิน
125 เมกาปาสกาล (1,250 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
(จ) เหล็กหล่อ ให้ใช้ไม่เกิน 70 เมกาปาสกาล (700 กิโลกรัมแรง
ต่อตารางเซนติเมตร)
(3) ในการคำนวณคานและพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้เหล็กเสริมรับแรงอัด
ให้ใช้หน่วยแรงของเหล็กเสริมรับแรงอัดที่คำนวณได้ตามทฤษฎีอีลาสติกหรือหน่วยแรง
ปลอดภัยได้ไม่เกินสองเท่า แต่หน่วยแรงที่คำนวณได้ต้องไม่เกินหน่วยแรงดึงตาม (1)
ข้อ 7 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กตามทฤษฎี
กำลังประลัย ให้ใช้น้ำหนักบรรทุกประลัย ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับส่วนของอาคารที่ไม่คิดแรงลม ให้ใช้น้ำหนักบรรทุกประลัย ดังนี้
นป. = 1.7 นค.+ 2.0 นจ.
(2) สำหรับส่วนของอาคารที่คิดแรงลมด้วยให้ใช้น้ำหนักบรรทุกประลัย ดังนี้
นป. = 0.75 (1.7 นค.+ 2.0 นจ.+ 2.0 รล.)
หรือ
นป. = 0.9 นค.+ 1.3 รล.
โดยให้ใช้ค่าน้ำหนักบรรทุกประลัยที่มากกว่า แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่า
ค่าน้ำหนักบรรทุกประลัยใน (1) ด้วย
นป. = น้ำหนักบรรทุกประลัย
นค. = น้ำหนักบรรทุกคงที่ของอาคาร
นจ. = น้ำหนักบรรทุกจร รวมด้วยแรงกระแทก
รล. = แรงลม
ข้อ 8 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กตามทฤษฎี
กำลังประลัย ให้ใช้ค่าหน่วยแรงอัดประลัยของคอนกรีตไม่เกิน 15 เมกาปาสกาล
(150 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
ข้อ 9 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กตามทฤษฎี
กำลังประลัย ให้ใช้กำลังครากของเหล็กเสริม ดังต่อไปนี้
(1) เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ ให้ใช้ไม่เกิน 240 เมกาปาสกาล
(2,400 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
(2) เหล็กเสริมอื่น ให้ใช้เท่ากำลังครากของเหล็กชนิดนั้น แต่ต้องไม่เกิน
400 เมกาปาสกาล (4,000 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
ข้อ 10 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารคอนกรีตอัดแรงตามทฤษฎี
กำลังประลัย ให้ใช้น้ำหนักบรรทุกประลัยเช่นเดียวกับข้อ 7
ข้อ 11 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารคอนกรีตอัดแรงให้ใช้ค่าหน่วย
แรงอัดของคอนกรีต ดังต่อไปนี้
(1) หน่วยแรงอัดในคอนกรีตชั่วคราวทันทีที่ถ่ายแรงมาจากเหล็กเสริมอัดแรง
ก่อนการเสื่อมสูญการอัดแรงของคอนกรีต ต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของหน่วยแรงอัด
ประลัยของคอนกรีต
(2) หน่วยแรงอัดที่ใช้ในการคำนวณออกแบบหลังการเสื่อมสูญการอัดแรงของ
คอนกรีต ต้องไม่เกินร้อยละ 40 ของหน่วยแรงอัดประลัยของคอนกรีต
ข้อ 12 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยคอนกรีตอัดแรง
ให้ใช้ค่าหน่วยแรงดึงของเหล็กเสริมอัดแรง ดังต่อไปนี้
(1) หน่วยแรงขณะดึงต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของหน่วยแรงดึงประลัยของ
เหล็กเสริมอัดแรง หรือร้อยละ 90 ของหน่วยแรงพิสูจน์ แล้วแต่ค่าใดจะน้อยกว่า
(2) หน่วยแรงในทันทีที่ถ่ายแรงไปให้คอนกรีตต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของ
หน่วยแรงดึงประลัยของเหล็กเสริมอัดแรง
(3) หน่วยแรงใช้งานต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของหน่วยแรงดึงประลัย หรือ
ร้อยละ 80 ของหน่วยแรงพิสูจน์ของเหล็กเสริมอัดแรง แล้วแต่ค่าใดจะน้อยกว่า
ข้อ 13 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยเหล็กโครงสร้าง
รูปพรรณ ให้ใช้ค่าหน่วยแรงของเหล็ก ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ไม่มีผลการทดสอบกำลังสำหรับเหล็กหนาไม่เกิน 40 มิลลิเมตร
ให้ใช้กำลังครากไม่เกิน 240 เมกาปาสกาล (2,400 กิโลกรัมแรงต่อตาราง
เซนติเมตร) สำหรับเหล็กซึ่งหนาเกิน 40 มิลลิเมตร ให้ใช้กำลังครากไม่เกิน
220 เมกาปาสกาล (2,200 กิโลกรัมแรงต่อตารางเซนติเมตร)
(2) หน่วยแรงดึง แรงอัด และแรงดัด ให้ใช้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ
กำลังครากตาม (1)
(3) หน่วยแรงเฉือน ให้ใช้ไม่เกินร้อยละ 40 ของกำลังครากตาม (1)
ข้อ 14 ในการคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
ให้ใช้ค่าหน่วยแรงไม่เกินอัตรา ดังต่อไปนี้
------------+----------+----------+----------+-----------
|หน่วยแรงดัด |หน่วยแรงอัด |หน่วยแรงอัด |หน่วยแรงเฉือน
| และแรงดึง | ขนานเสี้ยน | ขนานเสี้ยน | ขนานเสี้ยน
ชนิดไม้ |เมกาปาสกาล|เมกาปาสกาล|เมกาปาสกาล|เมกาปาสกาล
|(กิโลกรัมแรง|(กิโลกรัมแรง|(กิโลกรัมแรง|(กิโลกรัมแรง
| ต่อตาราง | ต่อตาราง | ต่อตาราง | ต่อตาราง
|เซนติเมตร) |เซนติเมตร) |เซนติเมตร) |เซนติเมตร)
------------+----------+----------+----------+-----------
(1) ไม้เนื้ออ่อน| 8 (80) | 6 (60) | 1.6 (16) | 0.8 (8)
(2) ไม้เนื้อ | | | |
ปานกลาง | 10 (100) | 7.5 (75) | 2.2 (22) | 1 (10)
(3) ไม้เนื้อแข็ง| 12 (120) | 9 (90) | 3 (30) | 1.2 (12)
------------+----------+----------+----------+-----------
ในกรณีที่มีผลการทดสอบของไม้ ให้ใช้ส่วนปลอดภัยโดยใช้กำลังไม่เกิน
1 ใน 8 ของหน่วยแรงดัดประลัย หรือไม่เกิน 1 ใน 6 ของหน่วยแรงที่ขีดปฏิภาค
แล้วแต่ค่าใดจะน้อยกว่า
ข้อ 15 หน่วยน้ำหนักบรรทุกจรสำหรับประเภทและส่วนต่าง ๆ ของอาคาร
นอกเหนือจากน้ำหนักของตัวอาคารหรือเครื่องจักรหรืออุปกรณ์อย่างอื่น ให้คำนวณ
โดยประมาณเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าอัตรา ดังต่อไปนี้
---------------------------------------------+-----------
| หน่วยน้ำหนัก
ประเภทและส่วนต่าง ๆ ของอาคาร | บรรทุกจร
| เป็นกิโลกรัม
|ต่อตารางเมตร
---------------------------------------------+-----------
(1) หลังคา | 30
(2) กันสาดหรือหลังคาคอนกรีต | 100
(3) ที่พักอาศัย โรงเรียนอนุบาล ห้องน้ำ ห้องส้วม | 150
(4) ห้องแถว ตึกแถวที่ใช้พักอาศัย อาคารชุด หอพัก |
โรงแรม และห้องคนไข้พิเศษของโรงพยาบาล | 200
(5) สำนักงาน ธนาคาร | 250
(6) (ก) อาคารพาณิชย์ ส่วนของห้องแถว ตึกแถวที่ใช้ |
เพื่อการพาณิชย์ มหาวิทยาลัย วิทยาลัย |
โรงเรียน และโรงพยาบาล | 300
(ข) ห้องโถง บันได ช่องทางเดินของอาคารชุด |
หอพัก โรงแรม สำนักงาน และธนาคาร | 300
(7) (ก) ตลาด อาคารสรรพสินค้า หอประชุม |
โรงมหรสพ ภัตตาคาร ห้องประชุม ห้องอ่าน |
หนังสือในห้องสมุดหรือหอสมุด ที่จอดหรือเก็บ |
รถยนต์นั่งหรือรถจักรยานยนต์ | 400
(ข) ห้องโถง บันได ช่องทางเดินของอาคารพาณิชย์|
มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียน | 400
(8) (ก) คลังสินค้า โรงกีฬา พิพิธภัณฑ์ อัฒจันทร์ |
โรงงานอุตสาหกรรม โรงพิมพ์ ห้องเก็บ |
เอกสารและพัสดุ | 500
(ข) ห้องโถง บันได ช่องทางเดินของตลาด อาคาร|
สรรพสินค้า หอประชุม โรงมหรสพ ภัตตาคาร |
ห้องสมุดหรือหอสมุด | 500
(9) ห้องเก็บหนังสือของห้องสมุดหรือหอสมุด | 600
(10) ที่จอดหรือเก็บรถยนต์บรรทุกเปล่า | 800
---------------------------------------------+-----------
ข้อ 16 ในการคำนวณออกแบบ หากปรากฏว่าพื้นที่ส่วนใดต้องรับน้ำหนัก
เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ หรือหน่วยน้ำหนักบรรทุกจรอื่น ๆ ที่มีค่ามากกว่าหน่วย
น้ำหนักบรรทุกจรซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 15 ให้ใช้หน่วยน้ำหนักบรรทุกจรค่าที่
มากกว่าเฉพาะส่วนที่ต้องรับหน่วยน้ำหนักเพิ่มขึ้น
ข้อ 17 ในการคำนวณออกแบบโครงสร้งอาคาร ให้คำนึงถึงแรงลมด้วย
หากจำเป็นต้องคำนวณและไม่มีเอกสารที่รับรองโดยสถาบันที่เชื่อถือได้ ให้ใช้
หน่วยแรงลม ดังต่อไปนี้
----------------------------------------+----------------
|หน่วยแรงลมอย่างน้อย
ความสูงของอาคารหรือส่วนของอาคาร |กิโลปาสกาล(กิโลกรัม
|แรงต่อตารางเมตร
----------------------------------------+----------------
(1) ส่วนของอาคารที่สูงไม่เกิน 10 เมตร | 0.5 (50)
(2) ส่วนของอาคารที่สูงเกิน 10 เมตร แต่ไม่เกิน |
20 เมตร | 0.8 (80)
(3) ส่วนของอาคารที่สูงเกิน 20 เมตร แต่ไม่เกิน |
40 เมตร | 1.2 (120)
(4) ส่วนของอาคารที่สูงเกิน 40 เมตร | 1.6 (160)
----------------------------------------+----------------
ในการนี้ยอมให้ใช้ค่าหน่วยแรงที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของอาคาร
ตลอดจนความต้านทานของดินใต้ฐานรากเกินค่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้
ได้ร้อยละ 33.3 แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของอาคารนั้นมีความมั่นคง
น้อยไปกว่าเมื่อคำนวณตามปกติโดยไม่คิดแรงลม
ข้อ 18 น้ำหนักบรรทุกบนดินที่ฐานรากของอาคารนั้น ต้องคำนวณให้
เหมาะสมเพื่อความมั่นคงและปลอดภัย ถ้าไม่มีเอกสารที่รับรองโดยสถาบันที่
เชื่อถือได้แสดงผลการทดลองหรือการคำนวณ จะต้องไม่เกินกำลังแบกทาน
ของดินประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ดินอ่อนหรือดินถมไว้แน่นตัวเต็มที่ 2 เมตริกตันต่อตารางเมตร
(2) ดินปานกลางหรือทรายร่วน 5 เมตริกตันต่อตารางเมตร
(3) ดินแน่นหรือทรายแน่น 10 เมตริกตันต่อตารางเมตร
(4) กรวดหรือดินดาน 20 เมตริกตันต่อตารางเมตร
(5) หินดินดาน 25 เมตริกตันต่อตารางเมตร
(6) หินปูนหรือหินทราย 30 เมตริกตันต่อตารางเมตร
(7) หินอัคนีที่ยังไม่แปรสภาพ 100 เมตริกตันต่อตารางเมตร
ข้อ 19 ในการคำนวณน้ำหนักที่ถ่ายลงเสา คาน หรือโครงที่รับเสา
และฐานราก ให้ใช้น้ำหนักของอาคารเต็มอัตรา ส่วนหน่วยน้ำหนักบรรทุกจร
ให้ใช้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 15 โดยให้ลดส่วนลงได้ตามชั้นของอาคาร
ดังต่อไปนี้
--------------------------------------+------------------
|อัตราการลดหน่วยน้ำหนัก
การรับน้ำหนักของพื้น |บรรทุกจรบนพื้นแต่ละชั้น
| เป็นร้อยละ
--------------------------------------+------------------
(1) หลังคาหรือดาดฟ้า | 0
(2) ชั้นที่หนึ่งถัดจากหลังคาหรือดาดฟ้า | 0
(3) ชั้นที่สองถัดจากหลังคาหรือดาดฟ้า | 0
(4) ชั้นที่สามถัดจากหลังคาหรือดาดฟ้า | 10
(5) ชั้นที่สี่ถัดจากหลังคาหรือดาดฟ้า | 20
(6) ชั้นที่ห้าถัดจากหลังคาหรือดาดฟ้า | 30
(7) ชั้นที่หกถัดจากหลังคาหรือดาดฟ้า | 40
(8) ชั้นที่เจ็ดถัดจากหลังคาหรือดาดฟ้า |
และชั้นต่อลงไป | 50
--------------------------------------+------------------
สำหรับโรงมหรสพ ห้องประชุม หอประชุม ห้องสมุด หอสมุด พิพิธภัณฑ์
อัฒจันทร์ คลังสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม อาคารจอดหรือเก็บรถยนต์หรือ
รถจักรยานยนต์ ให้คิดหน่วยน้ำหนักบรรทุกจรเด็มอัตราทุกชั้น
ข้อ 20 ในการคำนวณฐานรากบนเสาเข็มที่ตอกในชั้นดินอ่อน ถ้าไม่มี
เอกสารจากสถาบันที่เชื่อถือได้แสดงผลการทดสอบคุณสมบัติของดินและกำลัง
แบกทานสูงสุดของเสาเข็ม ให้ใช้ค่าหน่วยแรงฝืดของดินดังนี้
(1) สำหรับดินที่อยู่ในระดับลึกไม่เกิน 7 เมตร ใต้ระดับน้ำทะเลปานกลาง
ให้ใช้ค่าหน่วยแรงฝืดของดินได้ไม่เกิน 6 กิโลปาสกาล (600 กิโลกรัมแรง
ต่อตารางเมตร) ของพื้นผิวประสิทธิผลของเสาเข็ม
(2) สำหรับดินที่มีความลึกเกิน 7 เมตร ใต้ระดับน้ำทะเลปานกลาง
ให้คำนวณหาค่าหน่วยแรงฝืดของดินเฉพาะส่วนที่ลึกเกิน 7 เมตรลงไป ตาม
สูตรดังต่อไปนี้
หน่วยแรงฝืดเป็นกิโลกรัมแรงต่อตารางเมตร = 600 + 220 ย.
ย. = ความยาวของเสาเข็มเป็นเมตร เฉพาะส่วนที่ลึกเกิน 7 เมตร
ใต้ระดับน้ำทะเลปานกลาง
ข้อ 21 ในการคำนวณฐานรากบนเสาเข็มที่มีเอกสารจากสถาบันที่
เชื่อถือได้แสดงผลการทดสอบคุณสมบัติของดิน หรือมีการทดสอบหากำลังแบกทาน
ของเสาเข็มในบริเวณก่อสร้างหรือใกล้เคียง ให้ใช้กำลังแบกทานของเสาเข็ม
ไม่เกินอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) กำลังแบกทานของเสาเข็มที่คำนวณจากการทดสอบคุณสมบัติของดิน
ให้ใช้กำลังแบกทานได้ไม่เกินร้อยละ 40 ของน้ำหนักบรรทุกสูงสุด
(2) กำลังแบกทานของเสาเข็มที่ได้จากการทดสอบให้ใช้กำลังแบกทาน
ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของน้ำหนักบรรทุกสูงสุด
ข้อ 22 ในการทดสอบกำลังแบกทานของเสาเข็ม อัตราการทรุดตัวและ
การทรุดตัวของเสาเข็มเมื่อรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุดจะต้องอยู่ในเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) การทรุดตัวทั้งหมดของเสาเข็มจากรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด แล้วปล่อย
ทิ้งไว้เป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 25 มิลลิเมตร
(2) อัตราการทรุดตัวเฉลี่ยของเสาเข็มหลังจากรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด
แล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 0.25 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง
(3) การทรุดตัวสุทธิของเสาเข็มหลังจากปล่อยให้รับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด
เป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง แล้วคลายน้ำหนักบรรทุกจนหมดปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รบกวน
อีกยี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 6 มิลลิเมตร
ให้ไว้ ณ วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2527
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
----------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
มาตรา 8 (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาหาร พ.ศ. 2522
กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารมีอำนาจออก
กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทน ตลอดจนลักษณะ
และคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือซ่อมแซมอาคาร และ
การรับน้ำหนัก ความต้านทานและความคงทนของอาคารหรือพื้นดินที่รองรับ
อาคาร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[5]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2528)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้กำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต ดังนี้
(1) ใบอนุญาตก่อสร้าง ฉบับละ 20 บาท
(2) ใบอนุญาตดัดแปลง ฉบับละ 10 บาท
(3) ใบอนุญาตรื้อถอน ฉบับละ 10 บาท
(4) ใบอนุญาตเคลื่อนย้าย ฉบับละ 10 บาท
(5) ใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้ ฉบับละ 20 บาท
(6) ใบรับรอง ฉบับละ 20 บาท
(7) ใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรอง ฉบับละ 5 บาท
ข้อ 2 ให้กำหนดค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ดังนี้
(1) ใบอนุญาตก่อสร้าง ฉบับละ 20 บาท
(2) ใบอนุญาตดัดแปลง ฉบับละ 10 บาท
(3) ใบอนุญาตรื้อถอน ฉบับละ 10 บาท
(4) ใบอนุญาตเคลื่อนย้าย ฉบับละ 10 บาท
ข้อ 3 ให้กำหนดค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลนก่อสร้าง หรือดัดแปลง
อาคารสำหรับการก่อสร้างหรือสำหรับส่วนที่มีการดัดแปลง ดังนี้
(1) อาคารซึ่งสูงไม่เกินสองชั้นหรือสูงไม่เกินสิบสองเมตรให้คิดตามพื้นที่
ของพื้นอาคารแต่ละชั้นรวมกัน ตารางเมตรละ 0.50 บาท
(2) อาคารซึ่งสูงเกินสองชั้นแต่ไม่เกินสามชั้น หรือสูงเกินสิบสองเมตร
แต่ไม่เกินสิบห้าเมตร ให้คิดตามพื้นที่ของพื้นอาคารแต่ละชั้นรวมกัน ตารางเมตรละ
2 บาท
(3) อาคารซึ่งสูงเกินสามชั้นหรือสูงเกินสิบห้าเมตร ให้คิดตามพื้นที่ของ
อาคารแต่ละชั้นรวมกัน ตารางเมตรละ 4 บาท
(4) อาคารประเภทซึ่งจะต้องมีพื้นรับน้ำหนักบรรทุกชั้นใดชั้นหนึ่งเกิน
ห้าร้อยกิโลกรัมต่อหนึ่งตารางเมตร ให้ติดตามพื้นที่ของพื้นอาคารแต่ละชั้นรวมกัน
ตารางเมตรละ 4 บาท
(5) พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถและทางเข้าออก
ของรถ สำหรับอาคารที่กำหนดตามมาตรา 8 (9) ให้คิดตามพื้นที่ของที่จอดรถ
ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถรวมกัน ตารางเมตรละ 0.50 บาท
ในกรณีที่พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทาง
เข้าออกของรถ สำหรับอาคารที่กำหนดตามมาตรา 8 (9) อยู่ในอาคารหรือ
ชั้นหนึ่งชั้นใดของอาคาร ไม่ต้องคิดค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลนตาม
วรรคหนึ่งอีก
(6) ป้าย ให้คิดตามพื้นที่ของป้าย โดยเอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนที่
ยาวที่สุด ตารางเมตรละ 4 บาท
(7) อาคารประเภทซึ่งต้องวัดความยาว เช่น เขื่อน ทางหรือท่อระบายน้ำ
รั้วหรือกำแพง รวมทั้งประตูรั้วหรือกำแพง ให้คิดตามความยาว เมตรละ 1 บาท
ในการคิดค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลน เศษของตารางเมตรหรือเมตร
ตั้งแต่กึ่งหนึ่งขึ้นไปให้ถือเป็นหน่วยเต็ม ถ้าต่ำกว่ากึ่งหนึ่งให้ปัดทิ้ง
ในการคิดความสูงของอาคารเป็นชั้น ให้นับจำนวนชั้นของพื้นอาคารที่บุคคล
เข้าใช้สอยได้ยกเว้นพื้นชั้นลอย
ในการคิดความสูงของอาคารเป็นเมตร ให้วัดจากระดับพื้นดินถึงหลังคา
หรือส่วนของอาคารที่สูงที่สุด
ในกรณีที่อาคารมีพื้นชั้นลอย ให้คิดพื้นชั้นลอยเป็นพื้นที่ของพื้นอาคารในการ
คิดค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลนด้วย
ข้อ 4 ให้อาคารดังต่อไปนี้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
ตามข้อ 1 การต่ออายุใบอนุญาตตามข้อ 2 และการตรวจแบบแปลนก่อสร้างหรือ
ดัดแปลงอาคารตามข้อ 3
(1) อาคารของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อ
สาธารณประโยชน์
(2) อาคารของราชการส่วนท้องถิ่น ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(3) อาคารขององค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ใช้ในกิจการของ
องค์การหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(4) โบราณสถาน วัดวาอาราม หรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนา
ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างไว้แล้วโดยเฉพาะ
(5) อาคารที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ หรืออาคารที่ทำการ
ของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
(6) อาคารที่ทำการสถานฑูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศ
(7) อาคารชั่วคราวเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารถาวร ซึ่งสูง
ไม่เกินสองชั้นหรือสูงไม่เกินเก้าเมตร และมีกำหนดเวลารื้อถอน
(8) อาคารเพื่อใช้ประโยชน์เป็นการชั่วคราวซึ่งสูงไม่เกินสองชั้นหรือสูง
ไม่เกินเก้าเมตร และไม่ใช่อาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ หรืออาคารประเภท
ควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 และมีกำหนดเวลารื้อถอน
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2528
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
----------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
มาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้
ค่าธรรมเนียมหรือการยกเว้นค่าธรรมเนียม ต้องเป็นไปตามที่กำหนดใน
กฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้กำหนดแบบของคำขออนุญาต ใบอนุญาต และใบรับรองตามแบบ
ท้ายกฎกระทรวงนี้ ดังต่อไปนี้
(1) แบบคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร
ให้ใช้แบบ ข.1
(2) แบบคำขออนุญาตเคลื่อนย้ายอาคาร ให้ใช้แบบ ข.2
(3) แบบคำขออนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร ให้ใช้แบบ ข.3
(4) แบบคำขออนุญาตดัดแปลง หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก
ของรถเพื่อการอื่น ให้ใช้แบบ ข.4
(5) แบบคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร รื้อถอน
อาคาร เคลื่อนย้ายอาคาร ดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก
ของรถเพื่อการอื่น ให้ใช้แบบ ข.5
(6) แบบคำขอใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้าย
อาคาร ให้ใช้แบบ ข.6
(7) แบบคำขอใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรองให้ใช้แบบ ข.7
(8) แบบคำขอโอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร
เคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ให้ใช้แบบ ข.8
(9) แบบใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร
ให้ใช้แบบ อ.1
(10) แบบใบอนุญาตเคลื่อนย้ายอาคาร สำหรับการเคลื่อนย้ายอาคารไปยัง
ท้องที่ภายในแนวเขตอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเดียวกัน หรือสำหรับการ
เคลื่อนย้ายอาคารจากท้องที่ที่มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ
ไปยังท้องที่ที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือ
สำหรับการเคลื่อนย้ายอาคารจากท้องที่ที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ไปยังท้องที่ที่มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ใช้บังคับ ให้ใช้แบบ อ.2
(11) แบบใบอนุญาตเคลื่อนย้ายอาคารสำหรับการเคลื่อนย้ายอาคารไปยัง
ท้องที่ภายในเขตอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอื่น ให้ใช้แบบ อ.3
(12) แบบใบอนุญาตดัดแปลง หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก
ของรถเพื่อการอื่นให้ใช้แบบ อ.4
(13) แบบใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร ให้ใช้แบบ อ.5
(14) แบบใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือเคลื่อนย้าย
อาคาร ให้ใช้แบบ อ.6
ข้อ 2 ให้กำหนดแบบของคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามแบบท้าย
กฎกระทรวงนี้ ดังต่อไปนี้
(1) คำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบ
แบบแปลน หรือรายการคำนวณตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ให้ใช้แบบ ค.1
(2) คำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา 35 ให้ใช้แบบ ค.2
(3) คำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ตาม
มาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือให้ระงับการรื้อถอนอาคารตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
(กรณีที่กระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต) ให้ใช้แบบ ค.3
(4) คำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตราย
ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 41 วรรคหนึ่ง (กรณีที่การก่อสร้าง ดัดแปลง
เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนอาคารไม่ได้รับอนุญาต) ให้ใช้แบบ ค.4
(5) คำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ตาม
มาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือให้ระงับการรื้อถอนอาคารตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
(กรณีที่กระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต) ให้ใช้แบบ ค.5
(6) คำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตราย
ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 41 วรรคหนึ่ง (กรณีที่การก่อสร้าง ดัดแปลง
เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนอาคารที่กระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต) ให้ใช้แบบ ค.6
(7) คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (กรณีที่การก่อสร้าง
ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารกระทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต) ให้ใช้แบบ ค.7
(8) คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (ในกรณีที่การก่อสร้าง
ดัดแปลงหรือเคลื่อนย้ายอาคารที่กระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต) ให้ใช้แบบ ค.8
(9) คำสั่งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย
อาคารตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (กรณีที่กระทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต) ให้ใช้แบบ
ค.9
(10) คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง
รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (กรณีที่กระทำโดยไม่ได้
รับอนุญาต) ให้ใช้แบบ ค.10
(11) คำสั่งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร
ตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (กรณีที่กระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต) ให้ใช้แบบ
ค.11
(12) คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (กรณีที่กระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับ
ใบอนุญาต) ให้ใช้แบบ ค.12
(13) คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 41 และมาตรา 43
วรรคหนึ่ง (กรณีที่การรื้อถอนอาคารกระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต) ให้ใช้
แบบ ค.13
(14) คำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบ
แบบแปลน หรือรายการคำนวณตามมาตรา 43 วรรคสอง (กรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น
สั่งให้ยื่นคำขออนุญาตตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง) ให้ใช้แบบ ค.14
(15) คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 และมาตรา 43 วรรคสาม
(กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแก้ไข
เปลี่ยนแปลงอาคาร หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอรับใบอนุญาต) ให้ใช้แบบ ค.15
(16) คำสั่งให้ระงับการใช้อาคารตามมาตรา 44 (กรณีที่ยังไม่ได้รับใบรับรอง)
ให้ใช้แบบ ค.16
(17) คำสั่งให้ระงับการใช้อาคารตามมาตรา 44 (กรณีที่มีการใช้อาคารเพื่อ
กิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตให้ก่อสร้างดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร)
ให้ใช้แบบ ค.17
(18) คำสั่งให้ระงับการใช้อาคารตามมาตรา 44 (กรณีที่ไม่เป็นอาคารประเภท
ควบคุมการใช้ แต่ได้มีการใช้อาคารเพื่อกิจการในประเภทควบคุมการใช้) ให้ใช้แบบ
ค.18
(19) คำสั่งให้ระงับการใช้อาคารตามมาตรา 44 (กรณีที่เปลี่ยนการใช้อาคาร
ประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้
สำหรับอีกกิจการหนึ่ง) ให้ใช้แบบ ค.19
(20) คำสั่งให้ระงับการใช้พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อการอื่นตามมาตรา 45
ในกรณีที่พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นนั้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทาง
เข้าออกของรถ ให้ใช้แบบ ค.20
(21) คำสั่งให้ระงับการดัดแปลงและให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพื้นที่หรือ
สิ่งที่สร้างขึ้นให้กลับคืนสภาพเดิมตามมาตรา 45 (กรณีที่พื้นที่หรือสิ่งที่สร้าง
ขึ้นนั้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ) ให้ใช้แบบ ค.21
(22) คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 และมาตรา 45 (กรณีที่ไม่ระงับ
การใช้พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อการอื่น หรือไม่ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้กลับคืนสภาพเดิม สำหรับพื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้น
นั้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ) ให้ใช้แบบ ค.22
(23) คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขอาคารตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง (กรณีที่
อาคารมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน
หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยหรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือกระทบกระเทือนต่อ
การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม) ให้ใช้แบบ ค.23
(24) คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 และมาตรา 46 วรรคสอง
(กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ดำเนินการแก้ไขอาคารที่มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจ
เป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจาก
อัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพ
สิ่งแวดล้อม) ให้ใช้แบบ ค.24
(25) คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 77 (1) (กรณีที่ก่อสร้างอาคาร
ในที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุง
อาคารในท้องที่นั้นแล้ว) ให้ใช้แบบ ค.25
(26) คำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารตามมาตรา 77 (2) (กรณีที่ก่อสร้าง
อาคารในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนด
เขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นแล้ว) ให้ใช้แบบ ค.26
(27) คำสั่งให้ดำเนินการเพื่อขจัดหรือระงับเหตุที่ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิด
สภาพที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยการป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข
การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร
ตามมาตรา 77 (3) (กรณีที่ก่อสร้างอาคารในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นแล้ว) ให้ใช้แบบ
ค.27
(28) คำสั่งให้ทำสัญญาเช่าที่ดินตามมาตรา 77 (4) (กรณีที่ก่อสร้างอาคาร
ในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุง
อาคารในท้องที่นั้นแล้ว) ให้ใช้แบบ ค.28
ข้อ 3 ให้กำหนดแบบของหนังสือของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะใช้ในการปฏิบัติ
ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ดังต่อไปนี้
(1) หนังสือของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง
รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 26 และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารตาม
มาตรา 33 (กรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่สามารถแจ้งการออกใบอนุญาตให้ผู้ขอรับ
ใบอนุญาตทราบด้วยวิธีอื่น) ให้ใช้แบบ น.1
(2) หนังสือของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง
รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 26 และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
ตามมาตรา 33 ให้ใช้แบบ น.2
(3) หนังสือของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งการขยายเวลาการออกใบอนุญาต
หรือไม่อนุญาตตามมาตรา 26 วรรคสอง และมาตรา 33 ให้ใช้แบบ น.3
(4) หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน (แนบคำขอรับใบอนุญาต
ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร) ตามมาตรา 29 ให้ใช้แบบ
น.4
(5) หนังสือแจ้งการบอกเลิกผู้ควบคุมงานของผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 30
วรรคหนึ่ง ให้ใช้แบบ น.5
(6) หนังสือแจ้งการบอกเลิกการเป็นผู้ควบคุมงานของผู้ควบคุมงานตาม
มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ให้ใช้แบบ น.6
(7) หนังสือแจ้งการบอกเลิกผู้ควบคุมงานพร้อมกับการส่งมอบหนังสือแสดง
ความยินยอมของผู้ควบคุมงานคนใหม่ตามมาตรา 30 วรรคสอง ให้ใช้แบบ น.7
(8) หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานคนใหม่ (แนบกับแบบ น.7)
ตามมาตรา 30 วรรคสอง ให้ใช้แบบ น.8
(9) หนังสือของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งการอนุญาตให้โอนใบอนุญาตตาม
มาตรา 36 ให้ใช้แบบ น.9
(10) หนังสือของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไปยัง
ผู้อุทธรณ์ตามมาตรา 52 วรรคสอง ให้ใช้แบบ น.10
(11) หนังสือของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไปยัง
เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 52 วรรคสอง ให้ใช้แบบ น.11
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2528
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
แบบ ข.1
+---------------------------+
คำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร | เลขรับที่ .................. |
ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร | วันที่ ..................... |
| ลงชื่อ ............ ผู้รับคำขอ |
+---------------------------+
เขียนที่ .......................
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .....
ข้าพเจ้า ............. เจ้าของอาคารหรือตัวแทนเจ้าของอาคาร
| | เป็นบุคคลธรรมดา อยู่บ้านเลขที่ .... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
| | เป็นนิติบุคคลประเภท ......... จดทะเบียนเมื่อ .........
เลขทะเบียน ....... มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ .... ตรอก/ซอย .......
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
โดย ....................... ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต
อยู่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ......... ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด ...................
ขอยื่นคำขอรับใบอนุญาต ................ ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ทำการก่อสร้างอาคาร/ดัดแปลงอาคาร/รื้อถอนอาคาร ที่บ้าน
เลขที่ ...... ตรอก/ซอย .............. ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด ................. โดย .................. เป็นเจ้าของ
อาคาร ในที่ดินโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/ส.ค.1 เลขที่ ..........
เป็นที่ดินของ ........................
ข้อ 2 เป็นอาคาร
(1) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
(2) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
(3) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
ตามแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการ
คำนวณที่แนบมาพร้อมนี้
ข้อ 3 มี ............... เป็นผู้ควบคุมงาน ..............
เป็นผู้ออกแบบและคำนวณ
ข้อ 4 กำหนดแล้วเสร็จใน ....... วัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
ข้อ 5 พร้อมคำขอนี้ ข้าพเจ้าได้แนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยแล้ว
คือ
(1) แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน
จำนวน ....... ชุด ชุดละ ..... แผ่น
(2) รายการคำนวณหนึ่งชุด จำนวน ..... แผ่น (กรณีที่เป็นอาคาร
สาธารณะ อาคารพิเศษ หรืออาคารที่ก่อสร้างด้วยวัตถุถาวรและวัตถุทนไฟเป็น
ส่วนใหญ่
(3) หนังสือแสดงความเป็นตัวแทนของเจ้าของอาคาร (กรณีที่ตัวแทน
เจ้าของอาคารเป็นผู้ขออนุญาต
(4) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และผู้มีอำนาจ
ลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต ที่ออกให้ไม่เกินหกเดือน (กรณีที่นิติบุคคลเป็น
ผู้ขออนุญาต)
(5) หนังสือแสดงว่าเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการของ
นิติบุคคล (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต)
(6) หนังสือแสดงความยินยอมและรับรองของผู้ออกแบบและคำนวณอาคาร
จำนวน ..... ฉบับ พร้อมทั้งสำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
ควบคุมหรือวิชาชีสถาปัตยกรรมควบคุม จำนวน ..... ฉบับ (กรณีที่เป็นอาคาร
มีลักษณะ ขนาด อยู่ในประเภทเป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม
ควบคุม แล้วแต่กรณี)
(7) สำเนาหรือภาพถ่ายโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/ส.ค.1
เลขที่ ........... จำนวน ..... ฉบับ หรือหนังสือยินยอมของเจ้าของที่ดิน
จำนวน ..... ฉบับ
(8) หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานตามข้อ 3 จำนวน ..... ฉบับ
(9) สำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
หรือวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของผู้ควบคุมงาน จำนวน ..... ฉบับ (เฉพาะ
กรณีที่เป็นอาคารมีลักษณะ ขนาด อยู่ในประเภทเป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือ
วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม แล้วแต่กรณี)
(10) เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)
...................................................
.......................................................
(ลายมือชื่อ) .......................
(.....................)
ผู้ขออนุญาต
หมายเหตุ :- (1) ข้อความใดที่ไม่ใช้ให้ขีดฆ่า
(2) ใส่เครื่องหมาย ในช่อ | | หน้าข้อความที่ต้องการ
--------------------------------------------------------
หมายเหตุของเจ้าหน้าที่
จะต้องแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือขยายเวลา
ภายในวันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. ....
ผู้ขออนุญาตได้ชำำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ..................
เป็นเงิน ................. บาท และค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลน
..................... เป็นเงิน ............. บาท .. สตางค์
รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ............... บาท .. สตางค์ (............
.................) ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่ ...... เลขที่ .....
ลงวันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ออกใบอนุญาตแล้วเล่มที่ ......... ฉบับที่ ......... ลงวันที่ ..
เดือน ............... พ.ศ. ....
(ลายมือชื่อ) .......................
ตำแหน่ง .......................
แบบ ข.2
+---------------------------+
คำขออนุญาตเคลื่อนย้ายอาคาร | เลขรับที่ .................. |
| วันที่ ..................... |
| ลงชื่อ ............ ผู้รับคำขอ |
+---------------------------+
เขียนที่ .......................
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .....
ข้าพเจ้า ............. เจ้าของอาคารหรือตัวแทนเจ้าของอาคาร
| | เป็นบุคคลธรรมดา อยู่บ้านเลขที่ .... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
| | เป็นนิติบุคคลประเภท ......... จดทะเบียนเมื่อ .........
เลขทะเบียน ....... มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ .... ตรอก/ซอย .......
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
โดย ....................... ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต
อยู่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ......... ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด ...................
ขอยื่นคำขอรับใบอนุญาตเคลื่อนย้ายอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ทำการเคลื่อนย้ายอาคารบ้านเลขที่ ...................
ตรอก/ซอย .............. ถนน ................ หมู่ที่ .......
ตำบล/แขวง ................. อำเภอ/เขต ..................
จังหวัด ................. โดย .................. เป็นเจ้าของ
อาคาร ในที่ดินโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/ส.ค.1 เลขที่ ..........
เป็นที่ดินของ ..............................................
ไปในเขตท้องที่ควบคุมอาคารของ ...............................
บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ........... ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด .................... ในที่ดินโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/
ส.ค.1 เลขที่ .......... เป็นที่ดินของ ........................
ข้อ 2 เป็นอาคาร
(1) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
(2) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
(3) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
ตามแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการ
คำนวณที่แนบมาพร้อมนี้
ข้อ 3 มี ............... เป็นผู้ควบคุมงาน ..............
เป็นผู้ออกแบบและคำนวณ
ข้อ 4 กำหนดแล้วเสร็จใน ....... วัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
ข้อ 5 พร้อมคำขอนี้ ข้าพเจ้าได้แนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยแล้ว
คือ
(1) แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน
จำนวน ....... ชุด ชุดละ ..... แผ่น
(2) รายการคำนวณหนึ่งชุด จำนวน ..... แผ่น (กรณีที่เป็นอาคาร
สาธารณะ อาคารพิเศษ หรืออาคารที่ก่อสร้างด้วยวัตถุถาวรและวัตถุทนไฟเป็น
ส่วนใหญ่
(3) หนังสือแสดงความเป็นตัวแทนของเจ้าของอาคาร (กรณีที่ตัวแทน
เจ้าของอาคารเป็นผู้ขออนุญาต
(4) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และผู้มีอำนาจ
ลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต ที่ออกให้ไม่เกินหกเดือน (กรณีที่นิติบุคคลเป็น
ผู้ขออนุญาต)
(5) หนังสือแสดงว่าเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการของ
นิติบุคคล (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต)
(6) หนังสือแสดงความยินยอมและรับรองของผู้ออกแบบและคำนวณอาคาร
จำนวน ..... ฉบับ พร้อมทั้งสำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
ควบคุมหรือวิชาชีสถาปัตยกรรมควบคุม จำนวน ..... ฉบับ (กรณีที่เป็นอาคาร
มีลักษณะ ขนาด อยู่ในประเภทเป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม
ควบคุม แล้วแต่กรณี)
(7) สำเนาหรือภาพถ่ายโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/ส.ค.1
เลขที่ ........... จำนวน ..... ฉบับ หรือหนังสือยินยอมของเจ้าของที่ดิน
ที่จะเคลื่อนย้ายอาคารตามข้อ 1 จำนวน ..... ฉบับ
(8) หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานตามข้อ 3 จำนวน ..... ฉบับ
(9) สำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
หรือวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของผู้ควบคุมงาน จำนวน ..... ฉบับ (กรณี
ที่เป็นอาคารมีลักษณะ ขนาด อยู่ในประเภทเป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือ
วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม แล้วแต่กรณี)
(10) เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)
..................................................
......................................................
(ลายมือชื่อ) .......................
(.....................)
ผู้ขออนุญาต
หมายเหตุ :- (1) ข้อความใดที่ไม่ใช้ให้ขีดฆ่า
(2) ใส่เครื่องหมาย ในช่อ | | หน้าข้อความที่ต้องการ
-------------------------------------------------------
หมายเหตุของเจ้าหน้าที่
จะต้องแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือขยายเวลา
ภายในวันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. ....
ผู้ขออนุญาตได้ชำำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ..................
เป็นเงิน ................. บาท และค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลน
..................... เป็นเงิน ............. บาท .. สตางค์
รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ............... บาท .. สตางค์ (............
.................) ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่ ...... เลขที่ .....
ลงวันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ออกใบอนุญาตแล้วเล่มที่ ......... ฉบับที่ ......... ลงวันที่ ..
เดือน ............... พ.ศ. ....
(ลายมือชื่อ) .......................
ตำแหน่ง .......................
แบบ ข.3
+---------------------------+
คำขออนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร | เลขรับที่ .................. |
| วันที่ ..................... |
| ลงชื่อ ............ ผู้รับคำขอ |
+---------------------------+
เขียนที่ .......................
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .....
ข้าพเจ้า ............. เจ้าของอาคารหรือตัวแทนเจ้าของอาคาร/
ผู้ครอบครองอาคาร
| | เป็นบุคคลธรรมดา อยู่บ้านเลขที่ .... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
| | เป็นนิติบุคคลประเภท ......... จดทะเบียนเมื่อ .........
เลขทะเบียน ....... มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ .... ตรอก/ซอย .......
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
โดย ....................... ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต
อยู่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ......... ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด ...................
ขอยื่นคำขอรับใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 อาคารที่ขออนุญาตได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร/ดัดแปลงอาคาร/
เคลื่อนย้ายอาคาร/เปลี่ยนการใช้อาคาร/ใบรับรอง เลขที่ ......./.....
ลงวันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .... บ้านเลขที่ ...........
ตรอก/ซอย .............. ถนน ................ หมู่ที่ .......
ตำบล/แขวง ................. อำเภอ/เขต ..................
จังหวัด ................. โดย .................. เป็นเจ้าของ
อาคาร หรือ ...................... เป็นผู้ครอบครองอาคาร ในที่ดิน
โฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/ส.ค.1 เลขที่ .....................
เป็นที่ดินของ ..............................................
ข้อ 2 เป็นอาคาร
(1) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
(2) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
(3) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
ข้อ 3 ขอเปลี่ยนการใช้อาคารเพื่อใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้
ตามรายละเอียด ดังนี้
(1) อาคารตามข้อ 1 (1) ขอเปลี่ยนการใช้ เป็น .............
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
(2) อาคารตามข้อ 1 (2) ขอเปลี่ยนการใช้ เป็น .............
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
(3) อาคารตามข้อ 1 (3) ขอเปลี่ยนการใช้ เป็น .............
โดยมีที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ............คัน
ตามแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการ
คำนวณที่แนบมาพร้อมนี้
ข้อ 4 การขออนุญาตเปลี่ยนการใช้ตามคำขอนี้ ข้าพเจ้าขอรับรองว่า
ไม่ได้ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากที่ได้รับ
อนุญาตไว้ตามข้อ 1
ข้อ 5 พร้อมคำขอนี้ ข้าพเจ้าได้แนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยแล้ว
คือ
(1) สำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารแสดงการเป็นเจ้าของอาคาร หรือ
ผู้ครอบครองอาคาร
(2) หนังสือแสดงความยินยอมจากเจ้าของอาคาร (กรณีที่ผู้ครอบครอง
อาคารเป็นผู้ขออนุญาต
(3) ใบรับรองหรือใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร จำนวน ..... ฉบับ
(เฉพาะกรณีที่อาคารที่ขออนุญาตเปลี่ยนการใช้ ได้รับใบรับรองหรือได้รับ
ใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารแล้ว)
(4) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และผู้มีอำนาจ
ลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต ที่ออกให้ไม่เกินหกเดือน (กรณีที่นิติบุคคลเป็น
ผู้ขออนุญาต)
(5) หนังสือแสดงว่าเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการของ
นิติบุคคล (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต)
(6) แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน
จำนวน ....... ชุด ชุดละ ..... แผ่น
(7) รายการคำนวณหนึ่งชุด จำนวน ..... แผ่น (เฉพาะกรณีที่การ
เปลี่ยนแปลงการใช้อาคารนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
มากขึ้นกว่าที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม)
(8) หนังสือแสดงความยินยอมและรับรองของผู้ออกแบบและคำนวณอาคาร
จำนวน ..... ฉบับ พร้อมทั้งสำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
ควบคุม จำนวน ..... ฉบับ (กรณีที่เป็นอาคารมีลักษณะ ขนาด อยู่ในประเภท
เป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม)
(9) เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)
..................................................
......................................................
(ลายมือชื่อ) .......................
(.....................)
ผู้ขออนุญาต
หมายเหตุ :- (1) ข้อความใดที่ไม่ใช้ให้ขีดฆ่า
(2) ใส่เครื่องหมาย ในช่อ | | หน้าข้อความที่ต้องการ
-------------------------------------------------------
หมายเหตุของเจ้าหน้าที่
จะต้องแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือขยายเวลา
ภายในวันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. ....
ผู้ขออนุญาตได้ชำำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ..................
เป็นเงิน ................. บาท และค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลน
..................... เป็นเงิน ............. บาท .. สตางค์
รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ............... บาท .. สตางค์ (............
.................) ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่ ...... เลขที่ .....
ลงวันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ออกใบอนุญาตแล้วเล่มที่ ......... ฉบับที่ ......... ลงวันที่ ..
เดือน ............... พ.ศ. ....
(ลายมือชื่อ) .......................
ตำแหน่ง .......................
แบบ ข.4
+---------------------------+
คำขออนุญาตดัดแปลง หรือใช้ | เลขรับที่ .................. |
ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก | วันที่ ..................... |
ของรถ เพื่อการอื่น | ลงชื่อ ............ ผู้รับคำขอ |
+---------------------------+
เขียนที่ .......................
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .....
ข้าพเจ้า ............. เจ้าของอาคารหรือตัวแทนเจ้าของอาคาร
| | เป็นบุคคลธรรมดา อยู่บ้านเลขที่ .... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
| | เป็นนิติบุคคลประเภท ......... จดทะเบียนเมื่อ .........
เลขทะเบียน ....... มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ .... ตรอก/ซอย .......
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
โดย ....................... ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต
อยู่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ......... ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด ...................
ขอยื่นคำขอรับใบอนุญาตดัดแปลง หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทาง
เข้าออกของรถเพื่อการอื่น ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 อาคารที่ขออนุญาตได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร/ดัดแปลงอาคาร/
เคลื่อนย้ายอาคาร/เปลี่ยนการใช้อาคาร/ใบรับรอง เลขที่ ......./.....
ลงวันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .... บ้านเลขที่ ...........
ตรอก/ซอย .............. ถนน ................ หมู่ที่ .......
ตำบล/แขวง ................. อำเภอ/เขต ..................
จังหวัด ................. โดย .................. เป็นเจ้าของ
อาคาร หรือ ................... เป็นผู้ครอบครองอาคาร เป็นอาคาร
ชนิด .............. จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .............
ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ จำนวน ..... คัน
ข้อ 2 ขออนุญาตดัดแปลง ใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของ
รถตามข้อ 1 ทั้งหมด/บางส่วน เพื่อ .............................
ข้อ 3 ขอรับใบอนุญาตก่อสร้างพื้นที่/สิ่งที่สร้างขึ้น ชนิด ..........
จำนวน .......... เพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ
จำนวน ..... คัน ตามแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน
และรายการคำนวณ ดังนี้
(1) ที่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ....... ถนน ..........
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด .................. อยู่ในที่ดินโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/
ส.ค.1 เลขที่ ............... เป็นที่ดินของ ...................
(2) มี ............... เป็นผู้ควบคุมงาน ................
เป็นผู้ออกแบบและคำนวณ
(3) กำหนดแล้วเสร็จใน ....... วัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
ข้อ 4 พร้อมคำขอนี้ ข้าพเจ้าได้แนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยแล้ว
คือ
(1) แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน
จำนวน ....... ชุด ชุดละ ..... แผ่น
(2) รายการคำนวณหนึ่งชุด จำนวน ..... แผ่น (กรณีที่เป็นสิ่งที่
สร้างขึ้นเป็นอาคารเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ)
(3) สำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารแสดงการเป็นเจ้าของอาคาร หรือ
ผู้ครอบครองอาคาร
(4) หนังสือแสดงความยินยอมจากเจ้าของอาคาร (กรณีที่ผู้ครอบครอง
อาคารเป็นผู้ขออนุญาต
(5) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และผู้มีอำนาจ
ลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต ที่ออกให้ไม่เกินหกเดือน (กรณีที่นิติบุคคลเป็น
ผู้ขออนุญาต)
(5) หนังสือแสดงว่าเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการของ
นิติบุคคล (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต)
(7) หนังสือแสดงความยินยอมและรับรองของผู้ออกแบบและคำนวณ
(กรณีที่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเป็นอาคารเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ) จำนวน ..... ฉบับ
(8) สำเนาหรือภาพถ่ายโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/ส.ค.1
เลขที่ ........... จำนวน ..... ฉบับ หรือหนังสือยินยอมของเจ้าของที่ดิน
จำนวน ..... ฉบับ
(9) หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน จำนวน ..... ฉบับ
(10) สำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
หรือวิชาชีสถาปัตยกรรมควบคุมของผู้ควบคุมงาน จำนวน ..... ฉบับ (กรณี
ที่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเป็นอาคารเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก
ของรถ ซึ่งเป็นอาคารที่มีลักษณะ ขนาด อยู่ในประเภทเป็นวิชาชีพวิศวกรรม
ควบคุมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม)
(11) สำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร/ดัดแปลงอาคาร/
เคลื่อนย้ายอาคาร/เปลี่ยนการใช้อาคาร
(12) เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)
..................................................
......................................................
(ลายมือชื่อ) .......................
(.....................)
ผู้ขออนุญาต
หมายเหตุ :- (1) ข้อความใดที่ไม่ใช้ให้ขีดฆ่า
(2) ใส่เครื่องหมาย ในช่อ | | หน้าข้อความที่ต้องการ
-------------------------------------------------------
หมายเหตุของเจ้าหน้าที่
จะต้องแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือขยายเวลา
ภายในวันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. ....
ผู้ขออนุญาตได้ชำำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ..................
เป็นเงิน ................. บาท และค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลน
..................... เป็นเงิน ............. บาท .. สตางค์
รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ............... บาท .. สตางค์ (............
.................) ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่ ...... เลขที่ .....
ลงวันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ออกใบอนุญาตแล้วเล่มที่ ......... ฉบับที่ ......... ลงวันที่ ..
เดือน ............... พ.ศ. ....
(ลายมือชื่อ) .......................
ตำแหน่ง .......................
แบบ ข.5
คำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร+---------------------------+
ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร | เลขรับที่ .................. |
เคลื่อนย้ายอาคาร ดัดแปลงหรือใช้ | วันที่ ..................... |
ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก | ลงชื่อ ............ ผู้รับคำขอ |
ของรถ เพื่อการอื่น +---------------------------+
เขียนที่ .......................
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .....
ข้าพเจ้า ............. เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร
(ในกรณีผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ)
| | เป็นบุคคลธรรมดา อยู่บ้านเลขที่ .... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
| | เป็นนิติบุคคลประเภท ......... จดทะเบียนเมื่อ .........
เลขทะเบียน ....... มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ .... ตรอก/ซอย .......
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
โดย ................ ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขอต่ออายุใบอนุญาต
อยู่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ......... ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด ...................
ขอยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ............. ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 อาคารที่ขออนุญาตได้รับใบอนุญาต ....................
ตามใบอนุญาตเลขที่ ......./..... ลงวันที่ .. เดือน .............
พ.ศ. .... ที่บ้านเลขที่ ........... ตรอก/ซอย ................
ถนน ............... หมู่ที่ ....... ตำบล/แขวง ..............
อำเภอ/เขต .................. จังหวัด .....................
โดย ................ เป็นเจ้าของอาคาร อยู่ในที่ดินโฉนดที่ดิน เลขที่/
น.ส.3 เลขที่/ส.ค.1 เลขที่ ........ เป็นที่ดินของ ...............
ข้อ 2 เป็นอาคาร
(1) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ จำนวน ............คัน
(2) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ จำนวน ............คัน
(3) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ จำนวน ............คัน
กำหนดสิ้นอายุใบอนุญาต วันที่ .. เดือน ........... พ.ศ. ....
ข้อ 3 เหตุที่ทำการไม่เสร็จตามที่ได้รับอนุญาต เพราะ ..........
.......................................................
.......................................................
ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วถึง ..................................
.......................................................
.......................................................
จึงขอต่ออายุใบอนุญาตอีก ..... วัน
ข้อ 4 มี ............... เป็นผู้ควบคุมงาน ..............
เป็นผู้ออกแบบและคำนวณ
ข้อ 5 พร้อมคำขอนี้ ข้าพเจ้าได้แนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยแล้ว
คือ
(1) เอกสารแสดงการเป็นเจ้าของอาคาร จำนวน ..... ฉบับ (กรณี
ที่ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตไม่ใช่เจ้าของอาคารที่ได้รับใบอนุญาต)
(2) เอกสารแสดงการเป็นผู้ครอบครองอาคาร (กรณีที่ผู้ครอบครอง
อาคารเป็นผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทาง
เข้าออกของรถเพื่อการอื่น)
(3) หนังสือแสดงความยินยอมจากเจ้าของอาคาร (กรณีที่ผู้ครอบครอง
อาคารเป็นผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทาง
เข้าออกของรถเพื่อการอื่น)
(4) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และผู้มีอำนาจ
ลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต ที่ออกให้ไม่เกินหกเดือน (กรณีที่นิติบุคคลเป็น
ผู้ขออนุญาต)
(5) หนังสือแสดงว่าเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการของ
นิติบุคคล (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต)
(6) ใบอนุญาตตามข้อ 1 จำนวน ..... ฉบับ
(7) หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานตามข้อ 3
จำนวน ..... ฉบับ
(8) สำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
หรือวิชาชีสถาปัตยกรรมควบคุมของผู้ควบคุมงาน จำนวน ..... ฉบับ (กรณี
ที่เป็นอาคารที่มีลักษณะ ขนาด อยู่ในประเภทเป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือ
วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม)
(9) เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)
..................................................
......................................................
(ลายมือชื่อ) .......................
(.....................)
ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาต
หมายเหตุ :- (1) ข้อความใดที่ไม่ใช้ให้ขีดฆ่า
(2) ใส่เครื่องหมาย ในช่อ | | หน้าข้อความที่ต้องการ
-------------------------------------------------------
หมายเหตุของเจ้าหน้าที่
จะต้องแจ้งให้ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตทราบว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือ
ขยายเวลาภายในวันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. ....
ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ....
.......................... เป็นเงิน ................. บาท
(............................) ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่ ......
เลขที่ ..... ลงวันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ออกใบอนุญาตแล้วเล่มที่ ......... ฉบับที่ ......... ลงวันที่ ..
เดือน ............... พ.ศ. ....
(ลายมือชื่อ) .......................
ตำแหน่ง .......................
แบบ ข.6
+---------------------------+
คำขอใบรับรองการก่อสร้างอาคาร | เลขรับที่ .................. |
ดัดแปลงอาคาร | วันที่ ..................... |
หรือเคลื่อนย้ายอาคาร | ลงชื่อ ............ ผู้รับคำขอ |
+---------------------------+
เขียนที่ .......................
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .....
ข้าพเจ้า ............. เจ้าของอาคารหรือตัวแทนเจ้าของอาคาร/
ผู้ครอบครองอาคาร
| | เป็นบุคคลธรรมดา อยู่บ้านเลขที่ .... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
| | เป็นนิติบุคคลประเภท ......... จดทะเบียนเมื่อ .........
เลขทะเบียน ....... มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ .... ตรอก/ซอย .......
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
โดย ....................... ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต
อยู่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ......... ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด ...................
ขอยื่นคำขอใบรับรอง .................. ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 อาคารที่ขอใบรับรองได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร/ดัดแปลง
อาคาร/เคลื่อนย้ายอาคารตามใบอนุญาตเลขที่ ....../...... ลงวันที่ ..
เดือน ............. พ.ศ. .... ที่บ้านเลขที่ ..................
ตรอก/ซอย ............... ถนน .............. หมู่ที่ ........
ตำบล/แขวง ................ อำเภอ/เขต ...................
จังหวัด .................. โดย ....................... เป็น
เจ้าของอาคาร และ ..................... เป็นผู้ครอบครองอาคาร
อยู่ในที่ดินโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/ส.ค.1 เลขที่ ..............
เป็นที่ดินของ ..........................
ข้อ 2 เป็นอาคาร
(1) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ จำนวน ............คัน
(2) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ จำนวน ............คัน
(3) ชนิด ........... จำนวน ........ เพื่อใช้เป็น .......
โดยมีที่จอดรถ จำนวน ............คัน
อาคารตาม ................. เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้
ข้อ 3 ได้ทำการ ................... อาคารตามข้อ 1 เสร็จ
เมื่อวันที่ .. เดือน ................ พ.ศ. ..... ถูกต้องตามที่ได้รับ
ใบอนุญาตแล้ว
ข้อ 4 พร้อมคำขอนี้ ข้าพเจ้าได้แนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยแล้ว
คือ
(1) สำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารแสดงการเป็นเจ้าของอาคาร หรือ
ผู้ครอบครองอาคาร
(2) หนังสือแสดงความยินยอมจากเจ้าของอาคาร (กรณีที่ผู้ครอบครอง
อาคารเป็นผู้ยื่นคำขอ
(3) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และผู้มีอำนาจ
ลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขออนุญาต ที่ออกให้ไม่เกินหกเดือน (กรณีที่นิติบุคคลเป็น
ผู้ขออนุญาต)
(4) หนังสือแสดงว่าเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการของ
นิติบุคคล (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต)
(5) สำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ใบอนุญาตดัดแปลง
อาคาร หรือใบอนุญาตเคลื่อนย้ายอาคารตามข้อ 1 แล้วแต่กรณี
ใบอนุญาตตามข้อ 1 จำนวน ..... ฉบับ
(6) หนังสือรับรองของผู้ควบคุมงานรับรองว่าได้ควบคุมการ ......
............... อาคาร เป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต
(7) เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)
..................................................
......................................................
(ลายมือชื่อ) .......................
(.....................)
ผู้ขอใบรับรอง
หมายเหตุ :- (1) ข้อความใดที่ไม่ใช้ให้ขีดฆ่า
(2) ใส่เครื่องหมาย ในช่อ | | หน้าข้อความที่ต้องการ
-------------------------------------------------------
หมายเหตุของเจ้าหน้าที่
จะต้องแจ้งให้ผู้ขอใบรับรองทราบว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือขยาย
เวลาภายในวันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. ....
ผู้ขอใบรับรองได้ชำระค่าธรรมเนียมใบรับรอง ................
เป็นเงิน ................. บาท ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่ .......
เลขที่ ..... ลงวันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ออกใบรับรองแล้วเล่มที่ ......... ฉบับที่ ........ ลงวันที่ ..
เดือน ............... พ.ศ. ....
(ลายมือชื่อ) .......................
ตำแหน่ง .......................
แบบ ข.7
+---------------------------+
คำขอใบแทนใบอนุญาต | เลขรับที่ .................. |
หรือใบแทนใบรับรอง | วันที่ ..................... |
| ลงชื่อ ............ ผู้รับคำขอ |
+---------------------------+
เขียนที่ .......................
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .....
ข้าพเจ้า ....................... ผู้ได้รับใบอนุญาต/ใบรับรอง
| | เป็นบุคคลธรรมดา อยู่บ้านเลขที่ .... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
| | เป็นนิติบุคคลประเภท ......... จดทะเบียนเมื่อ .........
เลขทะเบียน ....... มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ .... ตรอก/ซอย .......
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
โดย ........................ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขอใบแทน
ใบอนุญาต/ใบแทนใบรับรอง อยู่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................. หมู่ที่ ...... ตำบล/แขวง .............
อำเภอ/เขต ................. จังหวัด ......................
ขอยื่นคำขอใบแทนใบอนุญาต/ใบแทนใบรับรอง .................
ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้าพเจ้าได้รับใบอนุญาต/ใบรับรอง ...................
เลขที่ ....../...... ลงวันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ที่บ้านเลขที่ .......... ตรอก/ซอย ............ ถนน ..........
หมู่ที่ ...... ตำบล/แขวง ............ อำเภอ/เขต ............
จังหวัด .................... ในที่ดินโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/
ส.ค.1 เลขที่ ............. เป็นที่ดินของ .....................
ข้อ 2 ใบอนุญาต/ใบรับรองดังกล่าวได้สูญหาย/ถูกทลาย/ชำรุด เมื่อ
วันที่ .. เดือน .............. พ.ศ. ....
ข้อ 3 พร้อมคำขอนี้ ข้าพเจ้าได้แนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยแล้ว
คือ
(1) ในกรณีที่ใบอนุญาตหรือใบรับรองสูญหาย ให้นำใบแจ้งความว่า
ใบอนุญาตหรือใบรับรองสูญหายของสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่ใบอนุญาตหรือใบรับรอง
นั้นสูญหายมาด้วย
(2) ในกรณีที่ใบอนุญาตหรือใบรับรองถูกทำลายหรือชำรุดบางส่วน ให้
แนบใบอนุญาตหรือใบรับรองที่ถูกทำลายหรือชำรุดบางส่วนนั้นมาด้วย
(ลายมือชื่อ) .......................
(.....................)
ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาต/ใบแทนใบรับรอง
หมายเหตุ :- (1) ข้อความใดที่ไม่ใช้ให้ขีดฆ่า
(2) ใส่เครื่องหมาย ในช่อ | | หน้าข้อความที่ต้องการ
-------------------------------------------------------
หมายเหตุของเจ้าหน้าที่
จะต้องแจ้งให้ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรองทราบว่าจะ
อนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือขยายเวลาภายในวันที่ .. เดือน ............
พ.ศ. ....
ผู้ขอรับใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรองได้ชำระค่าธรรมเนียม
ใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรอง ...........................
เป็นเงิน ................. บาท ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่ .......
เลขที่ ..... ลงวันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ออกใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรองแล้ว เล่มที่ ...........
ฉบับที่ ........ ลงวันที่ .. เดือน ............... พ.ศ. ....
(ลายมือชื่อ) .......................
ตำแหน่ง .......................
แบบ ข.8
+---------------------------+
คำขอโอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร | เลขรับที่ .................. |
ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร | วันที่ ..................... |
เคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยน | ลงชื่อ ............ ผู้รับคำขอ |
การใช้อาคาร +---------------------------+
เขียนที่ .......................
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .....
ข้าพเจ้า ............................... ผู้ได้รับใบอนุญาต
| | เป็นบุคคลธรรมดา อยู่บ้านเลขที่ .... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
| | เป็นนิติบุคคลประเภท ......... จดทะเบียนเมื่อ .........
เลขทะเบียน ....... มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ .... ตรอก/ซอย .......
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
โดย ................... ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาต
อยู่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ......... ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด ...................
ขอยื่นคำขอโอนใบอนุญาต ............... ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 อาคารที่ขออนุญาตได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร/ดัดแแปลง
อาคาร/รื้อถอนอาคาร/เคลื่อนย้ายอาคาร/เปลี่ยนการใช้อาคาร ตามใบอนุญาต
เลขที่ ......./..... ลงวันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ที่บ้านเลขที่ .......... ตรอก/ซอย ............ ถนน ..........
หมู่ที่ ...... ตำบล/แขวง ............ อำเภอ/เขต ............
จังหวัด .................... ในที่ดินโฉนดที่ดิน เลขที่/น.ส.3 เลขที่/
ส.ค.1 เลขที่ ............. เป็นที่ดินของ .....................
ข้อ 2 ขอโอนใบอนุญาตตามข้อ 1 ให้แก่ ....................
ตั้งแต่วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. ..... เนื่องจาก ........
.......................................................
.......................................................
ข้อ 3 พร้อมคำขอนี้ ข้าพเจ้าได้แนบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยแล้ว
คือ
(1) ใบอนุญาตตามข้อ 1
(2) เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)
..................................................
......................................................
(ลายมือชื่อ) .......................
(.....................)
ผู้ขอโอนใบอนุญาต
สำหรับผู้รับโอนใบอนุญาต
------
เขียนที่ .......................
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. .....
ข้าพเจ้า ............................ ผู้ขอรับโอนใบอนุญาต
| | เป็นบุคคลธรรมดา อยู่บ้านเลขที่ .... ตรอก/ซอย .........
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
| | เป็นนิติบุคคลประเภท ......... จดทะเบียนเมื่อ .........
เลขทะเบียน ....... มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ .... ตรอก/ซอย .......
ถนน ................ หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ...............
อำเภอ/เขต .................... จังหวัด ...................
โดย ................ ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคลผู้ขอรับโอนใบอนุญาต
อยู่บ้านเลขที่ ...... ตรอก/ซอย ......... ถนน ................
หมู่ที่ ..... ตำบล/แขวง ............. อำเภอ/เขต ............
จังหวัด ...................
ขอรับโอนใบอนุญาต ....................... ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้าพเจ้าขอรับโอนใบอนุญาต เลขที่ ........../........
ตั้งแต่วันที่ .. เดือน ............. พ.ศ. ....
ข้อ 2 ข้าพเจ้าขอรับรองว่า จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตตาม
ใบอนุญาตนั้นทุกประการ
(ลายมือชื่อ) .......................
(.....................)
ผู้รับโอนใบอนุญาต
หมายเหตุ :- (1) ข้อความใดที่ไม่ใช้ให้ขีดฆ่า
(2) ใส่เครื่องหมาย ในช่อ | | หน้าข้อความที่ต้องการ
-------------------------------------------------------
หมายเหตุของเจ้าหน้าที่
จะต้องแจ้งให้ผู้รับโอนใบอนุญาตทราบว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ภายใน
วันที่ .. เดือน ............ พ.ศ. ....
แจ้งการอนุญาตให้โอนใบอนุญาตแล้ว เมื่อวันที่ .. เดือน .........
พ.ศ. ....
(ลายมือชื่อ) .......................
ตำแหน่ง .......................
แบบ อ.1
ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร
------
คำเตือน
------
1. ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตจะบอกเลิกตัวผู้ควบคุมงานที่ระบุชื่อไว้ในใบอนุญาต
หรือผู้ควบคุมงานจะบอกเลิกการเป็นผู้ควบคุมงาน ให้มีหนังสือแจ้งให้พนักงานท้องถิ่น
ทราบ ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบถึงสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งระหว่างผู้ได้รับใบอนุญาต
กับผู้ควบคุมงานนั้น ในการบอกเลิกตัวผู้ควบคุมงานนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องระงับ
การดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะมีผู้ควบคุมงานคนใหม่ และมี
หนังสือแจ้งพร้อมกับส่งมอบหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานคนใหม่ให้แก่
เจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว
2. ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ต้องจัดให้มีพื้นที่ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น
ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตฉบับนี้
ต้องแสดงที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถไว้ให้ปรากฏตามแผนผัง
บริเวณที่ได้รับใบอนุญาต การดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก
ของรถเพื่อการอื่นนั้นต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
3. ผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารประเภท
ควบคุมการใช้ เมื่อได้ทำการตามที่ได้รับใบอนุญาตเสร็จแล้ว ต้องได้รับใบรับรอง
จากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 32 ก่อนจึงจะใช้อาคารนั้นได้
4. ใบอนุญาตฉบับนี้ ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาต ถ้า
ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ
แบบ อ.2
ใบอนุญาตเคลื่อนย้ายอาคาร
------
(สำหรับการเคลื่อนย้ายอาคารไปยังท้องที่ภายในเขตอำนาจของ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นเดียวกัน หรือสำหรับการเคลื่อนย้ายอาคาร
จากท้องที่ที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ
ไปยังท้องที่ที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522 หรือสำหรับการเคลื่อนย้ายอาคารจากท้องที่ที่ไม่อยู่
ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไปยัง
ท้องที่ที่มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ)
คำเตือน
------
1. ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตจะบอกเลิกตัวผู้ควบคุมงานที่ระบุชื่อไว้ในใบอนุญาต
หรือผู้ควบคุมงานจะบอกเลิกการเป็นผู้ควบคุมงาน ให้มีหนังสือแจ้งให้พนักงานท้องถิ่น
ทราบ ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบถึงสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งระหว่างผู้ได้รับใบอนุญาต
กับผู้ควบคุมงานนั้น ในการบอกเลิกตัวผู้ควบคุมงานนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องระงับ
การดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะมีผู้ควบคุมงานคนใหม่ และมี
หนังสือแจ้งพร้อมกับส่งมอบหนังสือแสดงความยินยอม ของผู้ควบคุมงานคนใหม่ให้แก่
เจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว
2. ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ต้องจัดให้มีพื้นที่ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น
ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตฉบับนี้
ต้องแสดงที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถไว้ให้ปรากฏตามแผนผัง
บริเวณที่ได้รับใบอนุญาต การดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก
ของรถเพื่อการอื่นนั้นต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
3. ผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารประเภท
ควบคุมการใช้ เมื่อได้ทำการตามที่ได้รับใบอนุญาตเสร็จแล้ว ต้องได้รับใบรับรอง
จากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 32 ก่อนจึงจะใช้อาคารนั้นได้
4. ใบอนุญาตฉบับนี้ ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาต ถ้า
ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ
แบบ อ.3
ใบอนุญาตเคลื่อนย้ายอาคาร
------
(สำหรับการเคลื่อนย้ายอาคารไปยังท้องที่ภายในเขตอำนาจของ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นอื่น)
คำเตือน
------
1. ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตจะบอกเลิกตัวผู้ควบคุมงานที่ระบุชื่อไว้ในใบอนุญาต
หรือผู้ควบคุมงานจะบอกเลิกการเป็นผู้ควบคุมงาน ให้มีหนังสือแจ้งให้พนักงานท้องถิ่น
ทราบ ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบถึงสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งระหว่างผู้ได้รับใบอนุญาต
กับผู้ควบคุมงานนั้น ในการบอกเลิกตัวผู้ควบคุมงานนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องระงับ
การดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะมีผู้ควบคุมงานคนใหม่ และมี
หนังสือแจ้งพร้อมกับส่งมอบหนังสือแสดงความยินยอม ของผู้ควบคุมงานคนใหม่ให้แก่
เจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว
2. ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ต้องจัดให้มีพื้นที่ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น
ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตฉบับนี้
ต้องแสดงที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถไว้ให้ปรากฏตามแผนผัง
บริเวณที่ได้รับใบอนุญาต การดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก
ของรถเพื่อการอื่นนั้นต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
3. ผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารประเภท
ควบคุมการใช้ เมื่อได้ทำการตามที่ได้รับใบอนุญาตเสร็จแล้ว ต้องได้รับใบรับรอง
จากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 32 ก่อนจึงจะใช้อาคารนั้นได้
4. ใบอนุญาตฉบับนี้ ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาต ถ้า
ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ
แบบ อ.4
ใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ
และทางเข้าออกของรถเพื่อการอื่น
------
คำเตือน
------
1. ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตจะบอกเลิกตัวผู้ควบคุมงานที่ระบุชื่อไว้ในใบอนุญาต
หรือผู้ควบคุมงานจะบอกเลิกการเป็นผู้ควบคุมงาน ให้มีหนังสือแจ้งให้พนักงานท้องถิ่น
ทราบ ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบถึงสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งระหว่างผู้ได้รับใบอนุญาต
กับผู้ควบคุมงานนั้น ในการบอกเลิกตัวผู้ควบคุมงานนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องระงับ
การดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะมีผู้ควบคุมงานคนใหม่ และมี
หนังสือแจ้งพร้อมกับส่งมอบหนังสือแสดงความยินยอม ของผู้ควบคุมงานคนใหม่ให้แก่
เจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว
2. ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ต้องจัดให้มีพื้นที่ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น
ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตฉบับนี้
ต้องแสดงที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถไว้ให้ปรากฏตามแผนผัง
บริเวณที่ได้รับใบอนุญาต การดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออก
ของรถเพื่อการอื่นนั้นต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
3. ผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารประเภท
ควบคุมการใช้ เมื่อได้ทำการตามที่ได้รับใบอนุญาตเสร็จแล้ว ต้องได้รับใบรับรอง
จากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 32 ก่อนจึงจะใช้อาคารนั้นได้
4. ใบอนุญาตฉบับนี้ ให้ใช้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาต ถ้า
ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ
แบบ อ.5
ใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร
------
คำเตือน
------
1. ห้ามเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้
อาคารเพื่อกิจการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารฉบับนี้
2. ห้ามเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารเปลี่ยนการใช้อาคารประเภท
ควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่ง ไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับ
อีกกิจการหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
3.ห้ามเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารที่ต้องมีพื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อ
ใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ดัดแปลง หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถนั้นเพื่อการอื่นไม่ว่า
ทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
4. ผู้ได้รับใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร ต้องแสดงใบอนุญาตเปลี่ยน
การใช้อาคารฉบับนี้ไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารนั้น
แบบ อ.6
ใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร
------
คำเตือน
------
1. ห้ามเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้
อาคารเพื่อกิจการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ในใบรับรองฉบับนี้
2. ห้ามเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารเปลี่ยนการใช้อาคารประเภท
ควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่ง ไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับ
อีกกิจการหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
3.ห้ามเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารที่ต้องมีพื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อ
ใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ดัดแปลง หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถนั้นเพื่อการอื่นไม่ว่า
ทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
4. ผู้ได้รับใบรับรองต้องแสดงใบรับรองฉบับนี้ไว้ในที่เปิดเผยและเห็น
ได้ง่าย ณ อาคารนั้น
แบบ ค.1
คำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ แบบแปลน
รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการคำนวณตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง
------
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยเจ้าของ
อาคารไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน
หนึ่งหมื่นบาท
2. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของ
โทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม
การศึกษา หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า
ให้เช่าซื้อ ขาย หรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวาง
โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิด
นั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522 ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.2
คำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา 35
------
แบบ ค.3
คำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 40
วรรคหนึ่ง หรือให้ระงับการรื้อถอนอาคารตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่กระทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยเจ้าของอาคาร
ไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน
หนึ่งหมื่นบาท
2. ผู้ใดได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว นอกจาก
ต้องระวางโทษตาม 1. แล้ว ต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
4. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขาย หรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
แบบ ค.4
คำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตราย
ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่การก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้ายหรือรื้อถอนอาคารไม่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยเจ้าของอาคาร
ไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน
หนึ่งหมื่นบาท
2. ผู้ใดได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว นอกจาก
ต้องระวางโทษตาม 1. แล้ว ต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
4. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขาย หรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
แบบ ค.5
คำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 40
วรรคหนึ่ง หรือให้ระงับการรื้อถอนอาคารตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร ให้ผิดไปจากที่ได้รับ
ใบอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ใน
ใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
2. ผู้ใดได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว นอกจาก
ต้องระวางโทษตาม 1. แล้ว ต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
4. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขาย หรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ในกรณีที่มีการกระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต ให้ถือว่าเป็นการกระทำ
ของผู้ควบคุมงาน เว้นแต่ผู้ควบคุมงานจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น
แบบ ค.6
คำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตราย
ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่การก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้ายหรือรื้อถอนอาคาร
กระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร ให้ผิดไปจากที่ได้รับ
ใบอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ใน
ใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
2. ผู้ใดได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว นอกจาก
ต้องระวางโทษตาม 1. แล้ว ต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
4. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขาย หรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ในกรณีที่มีการกระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต ให้ถือว่าเป็นการกระทำ
ของผู้ควบคุมงาน เว้นแต่ผู้ควบคุมงานจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น
แบบ ค.7
คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร
กระทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยเจ้าของ
อาคารไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษปรับ
ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
2. ผู้ได้รับคำสั่งนี้จะต้องรื้อถอนอาคารโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ
เงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (11) หรือ
ข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มิฉะนั้นต้องระวางโทษปรับ
ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.8
คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร
กระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต
ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
2. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน
สองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือ
ทั้งจำทั้งปรับ
4. ผู้ได้รับคำสั่งนี้จะต้องรื้อถอนอาคารโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ
เงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (11) หรือ
ข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มิฉะนั้นต้องระวางโทษปรับ
ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
5. ในกรณีที่มีการกระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต ให้ถือว่าเป็นการกระทำ
ของผู้ควบคุมงาน เว้นแต่ผู้ควบคุมงานจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น
6. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.9
คำสั่งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน
หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่กระทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยเจ้าของอาคาร
ไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน
หนึ่งหมื่นบาท
2. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน
สองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือ
ทั้งจำทั้งปรับ
4. ถ้าเจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้
รื้อถอนอาคารดังกล่าวในส่วนที่เห็นสมควรได้
5. ผู้ได้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.10
คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง
รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่กระทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยเจ้าของอาคาร
ไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน
หนึ่งหมื่นบาท
2. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน
สองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือ
ทั้งจำทั้งปรับ
4. ถ้าเจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้
รื้อถอนอาคารดังกล่าวในส่วนที่เห็นสมควรได้
5. ผู้ได้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.11
คำสั่งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร
ตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากที่ได้รับ
ใบอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ใน
ใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
2. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน
สองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือ
ทั้งจำทั้งปรับ
4. ในกรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต ให้ถือว่าเป็นการกระทำของผู้ควบคุมงาน
เว้นแต่ผู้ควบคุมงานจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น
5. ถ้าเจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้
รื้อถอนอาคารดังกล่าวในส่วนที่เห็นสมควรได้
6. ผู้ได้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.12
คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากที่ได้รับ
ใบอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ใน
ใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
2. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน
สองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือ
ทั้งจำทั้งปรับ
4. ผู้ได้รับคำสั่งนี้จะต้องรื้อถอนอาคารโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ
เงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (11) หรือ
ข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มิฉะนั้นต้องระวางโทษปรับ
ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
5. ในกรณีที่มีการกระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต ให้ถือว่าเป็นการกระทำ
ของผู้ควบคุมงาน เว้นแต่ผู้ควบคุมงานจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น
6. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.13
คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 41
และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่การรื้อถอนอาคารกระทำผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ได้รับคำสั่งนี้ไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องภายใน
ระยะเวลาที่กำหนด เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคาร
ดังกล่าวในส่วนที่เห็นสมควรได้
2. ผู้ได้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.14
คำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบ
แบบแปลน หรือรายการคำนวณตามมาตรา 43 วรรคสอง
------
(กรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้ยื่นคำขออนุญาตตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง)
คำเตือน
------
1. ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากที่ได้รับ
ใบอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ใน
ใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
2. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน
สองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือ
ทั้งจำทั้งปรับ
4. ในกรณีที่มีการกระทำให้ผิดไปจากที่ได้รับใบอนุญาต ให้ถือว่าเป็นการกระทำ
ของผู้ควบคุมงาน เว้นแต่ผู้ควบคุมงานจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น
5. ถ้าเจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้
รื้อถอนอาคารดังกล่าวในส่วนที่เห็นสมควรได้
6. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.15
คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 และมาตรา 43 วรรคสาม
------
(กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต
แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคาร หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอรับใบอนุญาต)
คำเตือน
------
1. ผู้ได้รับคำสั่งนี้จะต้องรื้อถอนอาคารโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ
เงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (11) หรือ
ข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มิฉะนั้นต้องระวางโทษปรับ
ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
2. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.16
คำสั่งให้ระงับการใช้อาคารตามมาตรา 44
------
(กรณีที่ยังไม่ได้รับใบรับรอง)
คำเตือน
------
1. เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารผู้ใด ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใด
ใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ก่อนที่จะได้รับใบรับรองจากเจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นว่าการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารนั้นเป็นไปโดย
ถูกต้องตามที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
2. ผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฝ่าฝืนคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษปรับ
วันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.17
คำสั่งให้ระงับการใช้อาคารตามมาตรา 44
------
(กรณีที่มีการใช้อาคารเพื่อกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
ให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร)
คำเตือน
------
1. เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารผู้ใด ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้
อาคารประเภทควบคุมการใช้ก่อนที่จะได้รับใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ว่าการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารนั้นเป็นไปโดยถูกต้องตามที่
ได้รับใบอนุญาตแล้ว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้อง
ระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
2. ผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฝ่าฝืนคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษปรับ
วันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.18
คำสั่งให้ระงับการใช้อาคารตามมาตรา 44
------
(กรณีที่ไม่เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้แต่ได้มีการใช้อาคาร
เพื่อกิจการในประเภทควบคุมการใช้)
คำเตือน
------
1. เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งไม่เป็นอาคารประเภทควบคุม
การใช้ผู้ใด ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารดังกล่าวเพื่อกิจการ
ประเภทควบคุมการใช้ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละ
ห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
2. ผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฝ่าฝืนคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษปรับ
วันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.19
คำสั่งให้ระงับการใช้อาคารตามมาตรา 44
------
(กรณีที่เปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่ง
ไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่ง)
คำเตือน
------
1. เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้
สำหรับกิจการหนึ่งผู้ใด เปลี่ยนการใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดเปลี่ยนการใช้
อาคารดังกล่าวไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่ง
โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน
หนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลา
ที่ยังฝ่าฝืน
2. ผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฝ่าฝืนคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษปรับ
วันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.20
คำสั่งให้ระงับการใช้พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อการอื่นตามมาตรา 45
------
(กรณีที่พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นนั้นเพื่อเป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ
และทางเข้าออกของรถ)
คำเตือน
------
1. เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารชนิดหรือประเภทที่ต้องมีพื้นที่หรือ
สิ่งที่สร้างขึ้นเป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถผู้ใด ดัดแปลง
หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถนั้นเพื่อการอื่นไม่ว่า
ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้อง
ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละ
หนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
2. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.21
คำสั่งให้ระงับการดัดแปลงและให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้กลับคืนสภาพเดิมตามมาตรา 45
------
(กรณีที่พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นนั้นเพื่อเป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ
และทางเข้าออกของรถ)
คำเตือน
------
1. เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารชนิดหรือประเภทที่ต้องมีพื้นที่หรือ
สิ่งที่สร้างขึ้นเป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถผู้ใด ดัดแปลง
หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถนั้นเพื่อการอื่นไม่ว่า
ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้อง
ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละ
หนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
2. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.22
คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 และตามมาตรา 45
------
(กรณีที่ไม่ระงับการใช้พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อการอื่นหรือไม่ดำเนินการ
แก้ไขเปลี่ยนแปลงพื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้กลับคืนสภาพเดิม สำหรับพื้นที่
หรือสิ่งที่สร้างขึ้นนั้นเพื่อเป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ)
คำเตือน
------
1. ผู้ได้รับคำสั่งนี้จะต้องรื้อถอนอาคารโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ
เงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (11)
หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งออกตามความในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มิฉะนั้นต้องระวางโทษปรับ
ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
2. ถ้าเป็นการกระทำของผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ
ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
3. ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา
หรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อ
ขายหรือจำหน่ายโดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.23
คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขอาคารตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง
------
(กรณีที่อาคารมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต
ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยหรือก่อให้เกิด
เหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม)
คำเตือน
------
1. ผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฝ่าฝืนคำสั่งนี้ เจ้าพนักงานท้องถิ่น
มีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามมาตรา 42
2. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.24
คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 และตามมาตรา 46 วรรคสอง
------
(กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ดำเนินการแก้ไขอาคารที่มีสภาพหรือ
มีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยหรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ
หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม)
คำเตือน
------
1. ผู้ได้รับคำสั่งนี้จำต้องรื้อถอนอาคารโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ
เงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (11)
หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งออกตามความในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มิฉะนั้นต้องระวางโทษปรับ
ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และจะต้องระวางโทษปรับอีกวันละห้าร้อยบาท
ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
2. ผู้รับคำสั่งผู้ใดไม่พอในคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
แบบ ค.25
คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 77 (1)
------
(กรณีที่ก่อสร้างอาคารในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นแล้ว)
คำเตือน
------
ถ้าผู้ได้รับคำสั่งนี้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นเสียภายในระยะเวลาที่กำหนด
ถ้าผู้นั้นไม่รื้อถอนอาคารให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ต้องระวางโทษ
ปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าผู้นั้นยินยอมให้เจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นเอง
แบบ ค.26
คำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารตามมาตรา 77 (1)
------
(กรณีที่ก่อสร้างอาคารในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นแล้ว)
คำเตือน
------
ถ้าผู้ได้รับคำสั่งนี้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นเสียภายในระยะเวลาที่กำหนด
ถ้าผู้นั้นไม่รื้อถอนอาคารให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ต้องระวางโทษ
ปรับเป็นรายวันอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าผู้นั้นยินยอม
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นเอง
แบบ ค.27
คำสั่งให้ดำเนินการเพื่อขจัดหรือระงับเหตุที่ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิด
สภาพที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย การป้องกันอัคคีภัย
การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง
และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรตามมาตรา 77 (3)
------
(กรณีที่ก่อสร้างอาคารในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นแล้ว)
คำเตือน
------
ถ้าผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นเสียภายในระยะเวลาที่กำหนด
ถ้าผู้นั้นไม่รื้อถอนอาคารให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ต้องระวางโทษ
ปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าผู้นั้นยินยอมให้
เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นเอง
แบบ ค.28
คำสั่งให้ทำสัญญาเช่าที่ดินตามมาตรา 77 (4)
------
(กรณีที่ก่อสร้างอาคารในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นแล้ว)
คำเตือน
------
ถ้าผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นเสียภายในระยะเวลาที่กำหนด
ถ้าผู้นั้นไม่รื้อถอนอาคารให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ต้องระวางโทษ
ปรับเป็นรายวันอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าผู้นั้นยินยอม
ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นเอง สัญญาเช่าที่ดินที่ทำขึ้น
ให้มีระยะเวลาเช่าตามที่ตกลงกัน แต่ต้องไม่เกินสิบปี การต่อระยะเวลาเช่า
จะกระทำมิได้ เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าที่ดินแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร
ผู้ใดไม่รื้อถอนขนย้ายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากบริเวณที่กำหนดใน
พระราชกฤษฎีกา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องระวางโทษปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
หรือจนกว่าผู้นั้นยินยอมให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเข้าดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นเอง
แบบ น.1
แบบ น.2
แบบ น.3
แบบ น.4
หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานตามมาตรา 29
------
(แนบคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน
หรือเคลื่อนย้ายอาคาร)
แบบ น.5
หนังสือแจ้งการบอกเลิกผู้ควบคุมงานของผู้ได้รับใบอนุญาต
ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง
------
แบบ น.6
หนังสือแจ้งการบอกเลิกการเป็นผู้ควบคุมงานของผู้ควบคุมงาน
ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง
------
แบบ น.7
หนังสือแจ้งการบอกเลิกผู้ควบคุมงานพร้อมกับการส่งมอบหนังสือ
แสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานคนใหม่ตามมาตรา 30 วรรคสอง
------
แบบ น.8
หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานคนใหม่ตามมาตรา 30 วรรคสอง
------
(แนบกับแบบ น.7)
แบบ น.9
แบบ น.10
แบบ น.11
----------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
มาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้
แบบคำขออนุญาต ใบอนุญาต ใบรับรอง ใบแทน ตลอดจนแบบคำสั่ง หรือ
แบบอื่นใดที่จะใช้ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องเป็นไปตามที่กำหนด
ในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2528)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้อาคารดังต่อไปนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา 21
มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34
(1) อาคารของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อ
สาธารณประโยชน์
(2) อาคารของราชการส่วนท้องถิ่น ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อ
สาธารณประโยชน์
(3) อาคารขององค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ใช้ในกิจการของ
องค์การหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(4) โบราณสถาน วัดวาอาราม หรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนา
ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างไว้แล้วโดยเฉพาะ
(5) อาคารที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ หรืออาคารที่ทำการ
ของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
(6) อาคารที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศ
ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับอาคารตามวรรคหนึ่ง ต้องแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ
แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการ
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การต่ออายุ
ใบอนุญาต การออกใบรับรอง และการออกใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรอง
จำนวนสองชุด ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือ
เคลื่อนย้ายอาคาร ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และแผนผังบริเวณ แบบแปลน และ
รายการประกอบแบบแปลนต้องถูกต้องและเป็นไปตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น
และหรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ด้วย
ความในวรรคหนึ่งห้ามมิให้ใช้บังคับแก่การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน
เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ดัดแปลง หรือใช้พื้นที่หรือสิ่งที่สร้าง
ขึ้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถเพื่อการอื่น ภายใน
บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในและชั้นนอก
*[8]
`ความในวรรคสองและวรรคสาม มิให้ใช้บังคับแก่อาคารตามวรรคหนึ่ง
ที่เกี่ยวกับความมั่นคงในทางราชการทหารหรือตำรวจ หรือแก่อาคารตามวรรคหนึ่ง
(1) และ (5) ที่คณะรัฐมนตรีอนุญาตในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษ ทั้งนี้ โดยจะกำหนด
เงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้'
ข้อ 2 เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับแจ้งและได้รับแผนผังบริเวณ แบบแปลน
และรายการประกอบแบบแปลนตามข้อ 1 วรรคสอง ให้ตรวจพิจารณาภายในสิบห้าวัน
นับแต่วันที่ได้รับแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลน ทั้งนี้
เฉพาะที่เกี่ยวกับการรักษาแนวอาคารตามถนนให้เป็นระเบียบ ระดับชั้นล่างของ
อาคาร ลักษณะสัมพันธ์ระหว่างอาคารกับทาง ถนน หรือที่สาธารณะ ที่ว่างอื่น ๆ
หรืออาคารต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และบริเวณที่ต้องห้ามกระทำการสำหรับ
อาคารบางชนิดหรือบางประเภท เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นว่ามีสิ่งที่ต้อง
ดำเนินการแก้ไขให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ดำเนินการทราบ
ข้อ 3 อาคารเพื่อใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวมในหน้าที่ของทางราชการ กิจการ
สาธารณกุศล หรือเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นการชั่วคราวและมีกำหนดเวลารื้อถอน
ซึ่งจัดทำหรือควบคุมโดยทางราชการ องค์การหรือกิจการสาธารณกุศล ให้ได้รับ
การยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 24
ข้อ 4 อาคารชั่วคราวเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารถาวรซึ่ง
สูงไม่เกินสองชั้น หรือสูงจากระดับพื้นดินถึงหลังคาหรือส่วนของอาคารที่สูงที่สุด
ไม่เกินเก้าเมตร และมีกำหนดเวลารื้อถอนเมื่ออาคารถาวรแล้วเสร็จ ต้องขอ
อนุญาตตามมาตรา 21 แต่ให้ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง
ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออก
ตามความในมาตรา 8 (1) (2) (3) (4) (6) (7) (8) และ (10) และ
ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตรื้อถอนอาคารตามมาตรา 23
ข้อ 5 อาคารเพื่อใช้ประโยชน์เป็นการชั่วคราวแทนอาคารเดิมที่ถูกทำลาย
หรือทำให้เสียหายเนื่องจากภัยธรรมชาติหรือเพลิงไหม้ หรือเหตุอื่นในลักษณะ
ทำนองเดียวกันซึ่งสูงไม่เกินสองชั้น หรือสูงจากระดับพื้นดินถึงหลังคาหรือส่วน
ของอาคารที่สูงที่สุดไม่เกินเก้าเมตร และไม่ใช่อาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ
หรืออาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 โดยมีกำหนดเวลารื้อถอน
ไม่เกินสิบสองเดือน ต้องขออนุญาตตามมาตรา 21 แต่ให้ได้รับการผ่อนผัน
ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงมหาดไทยซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (1) (2) (3) (4) (6) (7)
(8) (9) และ (10) และให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตรื้อถอนอาคาร
ตามมาตรา 23
ข้อ 6 อาคารที่มีลักษณะเป็นเต็นท์หรือประรำชั้นเดียว เพื่อใช้ประโยชน์
เป็นการชั่วคราวและไม่ใช่อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม
หรือการศึกษา โดยมีกำหนดเวลารื้อถอนไม่เกินสิบวัน ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้อง
ขออนุญาตตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 24
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2528
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
----------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้การยกเว้น
ผ่อนผันหรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฯ
ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเกี่ยวกับอาคารตามมาตรา 7 ต้องเป็นไปตามที่กำหนด
ในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2528)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) มาตรา 8 (12) และมาตรา 39
วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
มหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 เจ้าของอาคารผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาต
(1) ก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคารให้ยื่นคำขออนุญาต
ตามแบบ ข.1 พร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในแบบ ข.1 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
(2) เคลื่อนย้ายอาคาร ให้ยื่นคำขออนุญาตตามแบบ ข.2 พร้อมด้วยเอกสาร
ตามที่ระบุไว้ในแบบ ข.2 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่อาคารนั้นตั้งอยู่ เว้นแต่การ
เคลื่อนย้ายอาคารจากท้องที่ที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522 ไปยังท้องที่ที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ
ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในท้องที่ที่อาคารนั้นจะย้ายไปตั้ง
ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแนบเอกสารเกี่ยวกับแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการ
ประกอบแบบแปลน ตามที่ระบุไว้ในแบบ ข.1 และ ข.2 จำนวนห้าชุดพร้อมกับคำขอ
สำหรับการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่เป็น
อาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะประกาศกำหนด
ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแนบเอกสารดังกล่าวมากกว่าห้าชุดก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน
เจ็ดชุด
การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร
เกี่ยวกับอาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ หรืออาคารที่ก่อสร้างด้วยวัตถุถาวรและ
วัตถุทนไฟเป็นส่วนใหญ่ ต้องแนบรายการคำนวณจำนวนหนึ่งชุดพร้อมกับคำขอ
ตาม (1) หรือ (2) ด้วย
ข้อ 2 เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับคำขอตามข้อ 1 ให้ตรวจพิจารณา
แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณ (ถ้ามี)
เมื่อปรากฏว่าแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการ
คำนวณถูกต้องและเป็นไปตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น และหรือประกาศ
ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 แล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอนุญาตตามแบบ อ.1
หรือแบบ อ.2 แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่มีการขออนุญาตเคลื่อนย้ายอาคารไปยังท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจ
ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอื่น เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่อาคารนั้นตั้งอยู่ได้ตรวจ
พิจารณาตามวรรคหนึ่งและเห็นว่าถูกต้องแล้ว ให้ออกใบอนุญาตในส่วนที่เจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่อาคารจะทำการเคลื่อนย้ายตั้งอยู่ตามแบบ อ.3 และส่งใบอนุญาต
และสำเนาคู่ฉบับเอกสารที่เกี่ยวข้อง แผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการ
ประกอบแบบแปลนที่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและประทับตราไว้แล้ว จำนวนสี่ชุด
พร้อมด้วยรายการคำนวณหนึ่งชุด (ถ้ามี) ไปยังเจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่จะ
เคลื่อนย้ายอาคารไปตั้งใหม่ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่จะเคลื่อนย้าย
อาคารไปตั้งใหม่ได้ตรวจพิจารณาตามวรรคหนึ่ง และเห็นว่าถูกต้องแล้ว ให้ออก
ใบอนุญาตในส่วนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่อาคารจะเคลื่อนย้ายไปตั้งใหม่
ในแบบ อ.3 นั้น
ข้อ 3 เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือ
เคลื่อนย้ายอาคารที่เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 ได้ทำการ
ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้เจ้าของอาคาร
หรือผู้ครอบครองอาคารยื่นคำขอใบรับรองต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบ ข.6
พร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในแบบ ข.6
เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง และตรวจสอบแล้ว
เห็นว่าการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคารนั้นเป็นไปโดย
ถูกต้องตามที่ได้รับใบอนุญาต ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบรับรองตามแบบ อ.6
ข้อ 4 ในกรณีที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งไม่เป็นอาคาร
ประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 ประสงค์จะใช้อาคารดังกล่าวเพื่อกิจการ
ประเภทควบคุมการใช้ หรือเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งเป็นอาคาร
ประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 ประสงค์จะเปลี่ยนการใช้อาคารไปใช้
เป็นอาคารสำหรับอีกกิจการหนึ่ง ให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารยื่น
คำขออนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารตามแบบ ข.3 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมด้วย
เอกสารตามที่ระบุไว้ในแบบ ข.3
ให้นำความในข้อ 1 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับกับการขออนุญาต
ตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับเอกสารที่ต้องแนบพร้อมกับคำขอเกี่ยวกับแผนผัง
บริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการคำนวณ โดยอนุโลม
เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับคำขอตามวรรคหนึ่งแล้วให้ดำเนินการตาม
ข้อ 2 วรรคหนึ่ง และเมื่อเห็นว่าถูกต้อง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอนุญาต
ตามแบบ อ.5
ข้อ 5 ในกรณีที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารที่ต้องมีพื้นที่หรือ
สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถตาม
มาตรา 8 (9) ประสงค์จะดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทาง
เข้าออกของรถนั้นเพื่อการอื่น และก่อสร้างพื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น
ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถแทนของเดิมตามมาตรา 34 ให้
เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารยื่นคำขออนุญาตตามแบบ ข.4 ต่อ
เจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในแบบ ข.4
ให้นำความในข้อ 1 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับกับการขออนุญาต
ตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับเอกสารที่ต้องแนบพร้อมกับคำขอเกี่ยวกับแผนผัง
บริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการคำนวณ โดยอนุโลม
เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับคำขอตามวรรคหนึ่งแล้วให้ดำเนินการตาม
ข้อ 2 วรรคหนึ่ง และเมื่อเห็นว่าถูกต้อง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอนุญาต
ตามแบบ อ.4
ข้อ 6 ผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคารหรือใบอนุญาตดัดแปลง
หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถนั้นเพื่อการอื่น ให้ยื่นคำขอ
ต่ออายุใบอนุญาตตามแบบ ข.5 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมด้วยเอกสาร
ตามที่ระบุไว้ในแบบ ข.5 ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ
เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับคำขอตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้พิจารณาคำขอ
พร้อมด้วยเหตุผลในการขอต่ออายุใบอนุญาต เมื่อเห็นเป็นการสมควรให้
เจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต โดยจะแสดงไว้ในรายการ
ท้ายใบอนุญาตนั้น หรือจะออกใบอนุญาตให้ใหม่ก็ได้
ข้อ 7 ในกรณีที่ใบอนุญาตหรือใบรับรองสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด
ในสาระสำคัญ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาต
หรือใบแทนใบรับรองตามแบบ ข.7 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมด้วยเอกสาร
ตามที่ระบุไว้ในแบบ ข.7 ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย
ถูกทำลาย หรือชำรุด
เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาคำขอ
ดังกล่าวและเมื่อเห็นเป็นการสมควร ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบแทนใบอนุญาต
หรือใบแทนใบรับรองให้แก่ผู้ขอใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรอง
ใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรองให้ใช้แบบใบอนุญาตหรือแบบ
ใบรับรอง แล้วแต่กรณี โดยประทับตราสีแดงคำว่า `ใบแทน' กำกับไว้ด้วย
และให้มีวัน เดือน ปี ที่ออกใบแทน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ข้อ 8 ผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะโอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร เคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
ให้แก่บุคคลอื่น ให้ยื่นคำขออนุญาตตามแบบ ข.8 พร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้
ในแบบ ข.8 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาคำขอ
ดังกล่าวและเมื่อเห็นเป็นการสมควร ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกหนังสือแจ้ง
การอนุญาตให้โอนใบอนุญาตตามแบบ น.9 ให้แก่ผู้ขอโอนใบอนุญาต
ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาตให้โอนใบอนุญาต ให้ประทับตรา
สีแดงคำว่า `โอนแล้ว' ระบุชื่อผู้รับโอน และให้มีวัน เดือน ปี ที่อนุญาตให้
โอนใบอนุญาตกำกับไว้ในใบอนุญาตก่อสร้างอาคารดัดแปลงอาคาร รื้อถอน
อาคาร เคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร พร้อมทั้งลงลายมือชื่อ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ข้อ 9 แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และ
รายการคำนวณต้องเป็นสิ่งพิมพ์ สำเนา ภาพถ่าย หรือเขียนด้วยหมึก และ
ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) มาตราส่วน ขนาด ระยะ น้ำหนัก และหน่วยการคำนวณต่าง ๆ
ให้ใช้มาตราเมตริก
(2) แผนผังบริเวณให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า 1 ใน 500 แสดง
ลักษณะที่ตั้ง และขอบเขตของที่ดินและอาคารที่ขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง
รื้อถอน เคลื่อนย้าย เปลี่ยนการใช้ ดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และ
ทางเข้าออกของรถเพื่อการอื่น และขออนุญาตก่อสร้างพื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้น
เพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ แทนของเดิม พร้อมด้วย
รายละเอียด ดังนี้
(ก) แสดงขอบนอกของอาคารที่มีอยู่แล้ว
(ข) ระยะห่างจากขอบนอกของอาคารที่ขออนุญาตถึงขอบเขต
ของที่ดินทุกด้าน
(ค) ระยะห่างระหว่างอาคารต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วและอาคาร
ที่ขออนุญาตในขอบเขตของที่ดิน
(ง) ลักษณะและขอบเขตของที่สาธารณะและอาคารในบริเวณ
ที่ดินที่ติดต่อโดยสังเขปพร้อมด้วยเครื่องหมายทิศ
(จ) ในกรณีที่ไม่มีทางน้ำสาธารณะสำหรับการขออนุญาตก่อสร้าง
อาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ให้แสดงทางระบายน้ำออกจาก
อาคารไปสู่ทางระบายน้ำสาธารณะหรือวิธีการระบายน้ำด้วยวิธีอื่น พร้อมทั้ง
แสดงเครื่องหมายชี้ทิศทางน้ำไหลและส่วนลาด
(ฉ) แสดงระดับของพื้นชั้นล่างของอาคารและความสัมพันธ์กับ
ระดับทางหรือถนนสาธารณะที่ใกล้ที่สุดและระดับพื้นดิน
(ซ) แผนผังบริเวณสำหรับการเคลื่อนย้ายอาคารให้แสดงแผนผัง
บริเวณของอาคารที่มีอยู่เดิม และให้แสดงแผนผังบริเวณที่จะทำการเคลื่อนย้าย
อาคารไปอยู่ในที่ใหม่ให้ชัดเจน
แผนผังบริเวณสำหรับอาคารตามมาตรา 4 เว้นแต่ตึก บ้าน เรือน โรง
ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือ
เข้าใช้สอยได้ให้แสดงรายละเอียดตาม (ก) (ข) (ค) (ง) (จ)
(ฉ) หรือ (ช) เท่าที่จะต้องมีตามลักษณะของอาคารนั้น ๆ
(3) แบบแปลนให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า 1 ใน 100 โดยต้องแสดง
รูปร่างต่าง ๆ คือ แปลนพื้นชั้นต่าง ๆ รูปด้าน (ไม่น้อยกว่าสองด้าน) รูปตัด
ทางขวา รูปตัดทางยาว ผังคานรับพื้นชั้นต่าง ๆ และผังฐานรากของอาคารที่
ขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย เปลี่ยนการใช้ หรือดัดแปลง
หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถเพื่อการอื่น พร้อมด้วย
รายละเอียด ดังนี้
(ก) แบบแปลนต้องมีรูปรายละเอียดส่วนสำคัญ ขนาด เครื่องหมาย
วัสดุ และการใช้สอยต่าง ๆ ของอาคารอย่างชัดเจนเพียงพอที่จะพิจารณาตาม
กฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
(ข) แบบแปลนสำหรับการก่อสร้างอาคาร ให้แสดงส่วนต่าง ๆ
ของอาคารที่จะก่อสร้างให้ชัดเจน
(ค) แบบแปลนสำหรับการดัดแปลงอาคาร ให้แสดงส่วนที่มีอยู่เดิม
และส่วนที่จะดัดแปลงให้ชัดเจน
(ง) แบบแปลนสำหรับการรื้อถอนอาคาร ให้แสดงขั้นตอน วิธีการ
ตลอดจนความปลอดภัยในการรื้อถอนอาคาร
(จ) แบบแปลนสำหรับการเคลื่อนย้ายอาคาร ให้แสดงขั้นตอน
วิธีการ ความมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายอาคาร
สำหรับอาคารที่มีรูปตัดทางขวางหรือรูปตัดทางยาวของอาคารมี
ความกว้าง ความยาวหรือความสูงเกิน 90 เมตร แบบแปลนจะใช้มาตราส่วน
เล็กกว่า 1 ใน 100 ก็ได้ แต่ต้องไม่เล็กกว่า 1 ใน 250
(ฉ) แบบแปลนสำหรับการเปลี่ยนการใช้อาคารให้แสดงส่วนที่
ใช้อยู่เดิมและส่วนที่จะเปลี่ยนการใช้ใหม่ให้ชัดเจน
(ช) แบบแปลนสำหรับการดัดแปลงหรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ
และทางเข้าออกของรถเพื่อการอื่น ให้แสดงส่วนที่มีอยู่เดิมและส่วนที่จะทำการ
ก่อสร้างใหม่แทนของเดิมให้ชัดเจน สำหรับการก่อสร้างสิ่งที่สร้างขึ้นเป็นอาคาร
เพื่อใช้เป็นที่จอดรถที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถแทนของเดิมต้องแสดง
ส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่จะก่อสร้างให้ชัดเจน
แบบแปลนสำหรับอาคารตามมาตรา 4 เว้นแต่ตึก บ้าน เรือน โรง
ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่
หรือเข้าใช้สอยได้ ให้แสดงรายละเอียดตาม (ก) (ข) (ค) (ง)
(จ) (ฉ) และ (ช) เท่าที่จะต้องมีตามลักษณะของอาคารนั้น ๆ
(4) รายการประกอบแบบแปลน ให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพ
และชนิดของวัสดุ ตลอดจนวิธีปฏิบัติหรือวิธีการสำหรับการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลง
อาคาร รื้อถอนอาคาร เคลื่อนย้ายอาคาร เปลี่ยนการใช้อาคาร หรือดัดแปลง
หรือใช้ที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถเพื่อการอื่น
(5) รายการคำนวณ ให้แสดงวิธีการตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ โดยคำนวณ
กำลังของวัสดุ การรับน้ำหนัก และกำลังต้านทานของส่วนต่าง ๆ ของอาคาร
ข้อ 10 ผู้รับผิดชอบงานออกแบบหรือผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ
ต้องลงลายมือชื่อพร้อมกับเขียนชื่อด้วยตัวบรรจงในแผนผังบริเวณ แบบแปลน
รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณทุกแผ่น และให้ระบุสำนักงาน
หรือที่อยู่พร้อมกับคุณวุฒิของผู้รับผิดชอบดังกล่าวไว้ในแผนผังบริเวณ แบบแปลน
รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณแต่ละชุดด้วย หรือจะใช้สิ่งพิมพ์
สำเนา ภาพถ่ายที่ผู้รับผิดชอบงานออกแบบ หรือผู้รับผิดชอบงานออกแบบและ
คำนวณได้ลงลายมือชื่อพร้อมกับเขียนชื่อด้วยตัวบรรจง และระบุรายละเอียด
ดังกล่าวแทนก็ได้
ในกรณีที่ผู้รับผิดชอบงานออกแบบหรือผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ
เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือวิศวกรรม
ควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม
ให้ระบุเลขทะเบียนใบอนุญาตไว้ด้วย
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2528
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
---------------------------------------------------
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
มาตรา 8 (12) และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
กำหนดให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต
การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบรับรอง การขอรับใบแทนใบอนุญาตหรือ
ใบแทนใบรับรอง และการออกใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรอง ต้อง
เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[6]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การกระทำดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร คือ
(1) การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุขนาด จำนวนและชนิด
เดียวกับของเดิม เว้นแต่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
(2) การเปลี่ยนส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร
โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่นซึ่งไม่มีการเพิ่มน้ำหนักให้แก่
โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ
(3) การเปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายซึ่ง
ลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ส่วนต่าง ๆ ของอาคาร
ที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของ
อาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ
(4) การลดหรือการขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นหนึ่งชั้นใด ให้มีเนื้อที่น้อยลง
หรือมากขึ้น รวมกันไม่เกินห้าตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือ
คาน หรือ
(5) การลดหรือการขยายเนื้อที่ของหลังคา ให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกัน
ไม่เกินห้าตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน
ทั้งนี้ การกระทำตามวรรคหนึ่งต้องไม่ขัดต่อกฎกระทรวงที่ออกตาม
มาตรา 8 ข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 หรือประกาศ
ของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 13 หรือมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522
ข้อ 2 การรื้อส่วนอื่นของโครงสร้างของอาคารดังต่อไปนี้ ถือเป็นการ
รื้อถอนอาคาร คือ
(1) กันสาดคอนกรีตเสริมเหล็ก
(2) ผนังหรือฝาที่เป็นโครงสร้างของอาคาร หรือผนังหรือฝาคอนกรีต
เสริมเหล็ก
(3) บันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก
(4) พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่พื้นชั้นที่สองของอาคารขึ้นไป
ในกรณีที่มีการรื้อส่วนอื่นของโครงสร้างของอาคารตามวรรคหนึ่งเพื่อ
กระทำการตามข้อ 1 ในส่วนที่เป็นการดัดแปลงอาคาร มิให้ถือว่าการรื้อส่วนนั้น
เป็นการรื้อถอนอาคาร
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2528
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
----------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
มาตรา 4 และมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
บัญญัติให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดการกระทำซึ่งไม่ถือเป็นการ
ดัดแปลงอาคารและกำหนดส่วนอื่นของโครงสร้างของอาคารที่การรื้อส่วนนั้น
ถือเป็นการรื้อถอนอาคาร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2528)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 31 (2) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผัง
บริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนวิธีการ
หรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต ให้กระทำได้ในกรณี
ดังต่อไปนี้
(1) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ เว้นแต่ระยะที่ตั้งของอาคาร
ถึงขอบเขตที่ดินหรือขอบเขตที่สาธารณะผิดไปจากแผนผังบริเวณที่ได้รับอนุญาต
เกินร้อยละยี่สิบ
(2) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะ
ขอบเขต แบบ หรือรูปทรงของโครงสร้างของอาคาร เว้นแต่
(ก) สัดส่วนโครงสร้างของอาคารจะผิดไปจากแบบแปลนหรือ
รายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเกินร้อยละห้า หรือ
(ข) เมื่อผู้คำนวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนและ
รายการคำนวณตามมาตรา 28 เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ต่อเติม
เพิ่ม ลด หรือขยายโครงสร้างของอาคาร เพื่อความมั่นคงแข็งแรง โดย
ไม่ทำให้ลักษณะ แบบ รูปทรง เนื้อที่ และที่ตั้งของอาคารผิดไปจากที่ได้รับ
ใบอนุญาต และได้แจ้งให้ผู้ควบคุมงานและเจ้าของอาคารทราบแล้วพร้อมทั้ง
แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบโดยมีเหตุผลแสดงความจำเป็น
พร้อมด้วยแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนและรายการคำนวณโครงสร้าง
ของอาคารส่วนนั้นแล้ว ทั้งนี้ ต้องแจ้งก่อนใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน
หรือเคลื่อนย้ายอาคาร สิ้นอายุ
(3) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะ
ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน หรือเนื้อที่ของส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็น
โครงสร้างของอาคารอันเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคาร
ส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ
ทั้งนี้ กรณีตามวรรคหนึ่งต้องไม่ขัดต่อกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8
ข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 หรือประกาศของรัฐมนตรี
ที่ออกตามมาตรา 13 หรือมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2528
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
----------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
มาตรา 5 (3) และมาตรา 31 (2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
บัญญัติให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดกรณีที่ให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง
รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการ
ประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น
กำหนดไว้ในใบอนุญาตได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[7]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2528)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`เปลี่ยนการใช้' หมายความว่า เปลี่ยนการใช้อาคารอื่นให้เป็นอาคาร
ชนิดหรือประเภทตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2
`บริเวณที่ 1' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณรอบนอกเขตพระราชวัง
บางปะอิน ในระยะ 500 เมตร
`บริเวณที่ 2' หมายความว่า
พื้นที่ในบริเวณเขตสุขาภิบาลบ้านเลนเว้นแต่บริเวณที่ 1 และพื้นที่ใน
บริเวณเขตสุขาภิบาลลำตาเสา
พื้นที่ในบริเวณที่อยู่ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำน้อย ฝั่งตะวันออก ในเขตอำเภอ
บางไทรไปทางทิศตะวันออก ในระยะ 500 เมตร และพื้นที่ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ
เจ้าพระยา ฝั่งตะวันออก ในเขตอำเภอบางไทร ไปทางทิศตะวันออกจนจดเขต
ถนนสายบางไทร-เชียงรากน้อย ฟากตะวันตก
`บริเวณที่ 3' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวศูนย์กลาง
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309
(ถนนโรจนะ) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ทั้งสองข้าง ในระยะข้างละ
1,000 เมตร
`บริเวณที่ 4' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณแนวเขตควบคุมอาคารตาม
แผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่บริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3
ข้อ 2 ให้กำหนดพื้นที่ในท้องที่ตำบลบ้านกลึง ตำบลกระแชง ตำบลช้างน้อย
ตำบลบ้านแป้ง ตำบลสนามชัย ตำบลราชคราม ตำบลช้างใหญ่ ตำบลโพแตง ตำบล
เชียงรากน้อย อำเภอบางไทร ตำบลปากกราน ตำบลคลองตะเคียน ตำบลบ้านรุน
ตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตำบลบางประแดง ตำบลขนอนหลวง
ตำบลบ้านกรด ตำบลคุ้งลาน ตำบลสามเรือน ตำบลบ้านสร้าง ตำบลตลาดเกรียบ
ตำบลบ้านโพ ตำบลวัดยม ตำบลบ้านหว้า ตำบลตลิ่งชัน ตำบลบ้านแป้ง ตำบลบ้านเลน
ตำบลบ้านพลับ ตำบลเกาะเกิด ตำบลคลองจิก ตำบลบางกระสั้น ตำบลเชียงรากน้อย
อำเภอบางปะอิน และตำบลลำตาเสา ตำบลบ่อตาโล่ ตำบลลำไทร ตำบลพะยอม
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในบริเวณแนวเขตตามแผนที่ท้าย
กฎกระทรวงนี้เป็นบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ซึ่งอาคารชนิด
และประเภท ดังต่อไปนี้
(ก) ภายในบริเวณที่ 1 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
อื่นใด เว้นแต่
(1) อาคารที่พักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน 8 เมตร
(2) หอถังน้ำที่มีความสูงไม่เกิน 11 เมตร
(ข) ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
ดังต่อไปนี้
(1) โรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 5 แรงม้า หรือเทียบเท่า
ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
(2) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(3) คลังสินค้าที่มีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร
(4) อาคารที่มีความสูงเกิน 16 เมตร
(5) หอถังน้ำที่มีความสูงเกิน 19 เมตร
(ค) ภายในบริเวณที่ 3 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยน การใช้อาคาร
ดังต่อไปนี้
(1) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(2) อาคารที่มีความสูงเกิน 16 เมตร
(3) หอถังน้ำที่มีความสูงเกิน 19 เมตร
(ง) ภายในบริเวณที่ 4 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
ดังต่อไปนี้
(1) โรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 5 แรงม้า หรือเทียบเท่า
ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
(2) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(3) สถานที่เก็บและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการ
เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง
(4) สถานีบริการ สถานที่บรรจุก๊าซ และสถานที่เก็บก๊าซตามกฎหมาย
ว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
(5) โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่
การเล่นมหรสพ
(6) อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
(7) หอถังน้ำที่มีความสูงเกิน 15 เมตร
การวัดความสูงให้วัดจากระดับถนนหรือขอบทางเท้าที่ใกล้ที่สุดถึงส่วนที่สูง
ที่สุดของอาคาร
ข้อ 3 กฎกระทรวงนี้ไม่ใช้บังคับแก่การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยน
การใช้อาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารหรือสถานที่ของทางราชการ
(2) อาคารหรือสถานที่ขององค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ที่ใช้ใน
กิจการขององค์การหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(3) ศาสนสถาน
(4) อาคารของศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ
(5) เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้ว กำแพงและประตู
ข้อ 4 อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณ
ห้ามการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารชนิดใดหรือประเภทใด
ในท้องที่บางแห่งในอำเภอบางไทร อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน
และอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2527
ใช้บังคับ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้ามดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารนั้นให้ขัดกับข้อ 2
ให้ไว้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2528
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามการก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารชนิดใดหรือประเภทใด ในท้องที่บางแห่งในอำเภอบางไทร
อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนคร
ศรีอยุธยา ลงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6
ตุลาคม พ.ศ. 2527 แต่ตามความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายใน
หนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ ให้ประกาศดังกล่าวเป็นอันยกเลิก
และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือ
บางประเภทภายในบริเวณดังต่อกล่าวต่อไป จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[9]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2529)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`บริเวณที่ 1' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่เริ่มจากแนวเขตควบคุม
อาคารด้านตะวันตก ไปทางทิศตะวันออกข้ามถนนป่าตอง-กมลา ถนนทวีวงศ์
และถนนเลียบริมหาดป่าตอง จนถึงระยะที่ห่างจากแนวศูนย์กลางถนนป่าตอง-กมลา
ถนนทวีวงศ์ และถนนเลียบริมหาดป่าตอง 15 เมตร ไปทางทิศเหนือจนจดเขต
ตำบลกมลา ไปทางทิศใต้จนจดบริเวณที่ห่างจากกึ่งกลางคลองปากบางไปทาง
ทิศใต้ตามแนวถนนเลียบริมหาดป่าตองเป็นระยะ 500 เมตร
`บริเวณที่ 2' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวศูนย์กลาง
ถนนราษฎรอุทิศ ถนนสองร้อยปี และถนนทุกสายที่เชื่อมระหว่างถนนทวีวงศ์
กับถนนราษฎรอุทิศและถนนสองร้อยปี ออกไปทั้งสองข้าง ๆ ละ 15 เมตร
`บริเวณที่ 3' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากสุดแนวเขต
บริเวณที่ 1 ตลอดแนวไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะ 150 เมตร
`บริเวณที่ 4' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณระหว่างบริเวณที่ 2 กับ
บริเวณที่ 3 และพื้นที่ในบริเวณที่วัดจากสุดแนวเขตบริเวณที่ 2 ไปทางทิศเหนือ
และทิศใต้ ตลอดแนวบริเวณที่ 3 กว้าง 150 เมตร
ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 ให้กำหนดพื้นที่ในท้องที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
ภายในบริเวณแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นบริเวณห้ามก่อสร้าง
อาคารชนิดและประเภท ดังต่อไปนี้
(ก) ภายในบริเวณที่ 1 และบริเวณที่ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้าง
อาคารอื่นใด เว้นแต่
(1) อาคารที่พักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยวชั้นเดียวที่มีความสูง
ไม่เกิน 5 เมตร และมีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของ
ที่ดินแปลงนั้น
(2) เขื่อน ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้ว กำแพง ประตู และสะพาน
ที่ไม่ได้สร้างลงสู่ทะเล
(3) พื้นที่เพื่อใช้เป็นที่จอดรถที่ไม่มีการก่อสร้างอาคาร และทาง
เข้าออกของรถ
(4) ท่าเทียบเรือ อาคารหรือสถานที่ของทางราชการ
(ข) ภายในบริเวณที่ 3 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
(2) อาคารที่ทางเข้าออกตั้งแต่ตัวอาคารถึงทางสาธารณะมี
ความกว้างน้อยกว่า 3.50 เมตร
(3) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
(4) โรงมหรสพตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอัน
เกิดแต่การเล่นมหรสพ
(5) สถานีขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
(6) สถานที่เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกัน หรือ
หลายหลังรวมกันเกิน 10 ตารางเมตร
(7) อาคารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดใน
หลังเดียวกันเกิน 2,000 ตารางเมตร
(8) ตลาดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน
300 ตารางเมตร หรือตลาดที่มีระยะห่างจากตลาดอื่นน้อยกว่า 50 เมตร
(9) โรงซ่อม สร้าง หรือบริการยวดยานที่ขับเคลื่อนตัวด้วยเครื่องยนต์
ทุกชนิด
(10) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และสถานีบริการตามกฎหมาย
ว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
(11) สถานที่เก็บและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วย
การเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง
(12) สถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนเกิน 5 เตียง
(13) ศาสนสถานและสถานศึกษา
(14) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายทุกชนิดเว้นแต่
ป้ายบอกชื่อสถานที่ที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร
(15) อาคารที่สร้างด้วยวัสดุไม่ถาวรหรือไม่ทนไฟเป็นส่วนใหญ่
เว้นแต่เป็นอาคารประเภทบ้านเดี่ยวชั้นเดียวที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร และ
ต้องมีระยะห่างจากอาคารอื่นโดยรอบไม่น้อยกว่า 5 เมตร
(16) เพิงหรือแผงลอย
(17) อาคารที่มีที่ว่างในที่ดินแปลงที่ก่อสร้างอาคารน้อยกว่าร้อยละ
50 ของเนื้อที่ดินแปลงนั้น
(18) ห้องแถวหรือตึกแถว
(19) ฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
(20) สถานที่เก็บสินค้า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร
ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันที่ใช้เป็นที่เก็บ พัก หรือขนถ่ายสินค้า หรือสิ่งของ
เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรืออุตสาหกรรม
(ค) ภายในบริเวณที่ 4 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารตาม (ข) (2) (3) (6) (9) (10) (11) (13)
และ (15)
(2) อาคารตาม (ข) (20) ที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือ
หลายหลังรวมกันเกิน 200 ตารางเมตร
(3) อาคารที่มีที่ว่างในที่ดินแปลงที่ก่อสร้างอาคารน้อยกว่าร้อยละ
30 ของที่ดินแปลงนั้น
การวัดความสูงให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ 3 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
อาคารใด ๆ เว้นแต่จะเป็นการดัดแปลงที่ไม่ทำให้อาคารนั้นมีลักษณะที่ขัดกับ
อาคารตามที่กำหนดในข้อ 2
ข้อ 4 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดเปลี่ยน
การใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทอื่นที่มีลักษณะขัดกับอาคาร
ตามที่กำหนดในข้อ 2
ข้อ 5 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามข้อ 2 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่
ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าว เว้นแต่จะเป็นการดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้ในลักษณะที่ไม่ขัดกับการเป็นอาคารตามที่กำหนดในข้อ 2
ข้อ 6 อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้น ก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณ
ห้ามการก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ในท้องที่บางส่วนในตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 10 มิถุนายน
พ.ศ. 2528 ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ
ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนการอนุญาตให้เป็น
การขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2529
พลเอก สิทธิ จิรโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามการก่อสร้าง ดัดแปลง
ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
ป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2528 ซึ่งมีผล
ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2528 แต่มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติ
ท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับให้ประกาศดังกล่าวเป็นอัน
ยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
บางชนิดหรือบางประเภทภายในบริเวณดังกล่าวต่อไป จึงจำเป็นต้องออก
กฎกระทรวงนี้
*[10]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2530)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`บริเวณที่ 1' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณรอบนอกแนวเขตที่ดินของ
พุทธมณฑลในระยะ 300 เมตร
`บริเวณที่ 2' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณรอบนอกแนวเขตบริเวณที่ 1
ในระยะ 700 เมตร
ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 ให้กำหนดพื้นที่ในท้องที่ตำบลบางเตย ตำบลบางกระทึก อำเภอ
สามพราน ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และแขวงศาลาธรรมสพพ์
แขวงทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ภายในบริเวณแนวเขตตามแผนที่
ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารชนิดและประเภทดังต่อไปนี้
(ก) ภายในบริเวณที่ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) ห้องแถวหรือตึกแถว
(2) ตลาดตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
(3) โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิด
แก่การเล่นมหรสพ
(4) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
(5) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(6) ฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
(7) โรงซ่อม สร้าง หรือบริการยวดยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์
ทุกชนิด
(8) สถานที่เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือ
หลายหลังรวมกันเกิน 20 ตารางเมตร
(9) อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
(10) หอถังน้ำที่มีความสูงเกิน 15 เมตร
(11) คลังสินค้าที่มีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร
(12) อาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกิน 1,000 ตารางเมตร
(13) โรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้าหรือเทียบเท่า
ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
(14) สถานที่เก็บและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วย
การเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง
(15) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และสถานที่บริการตาม
กฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
(ข) ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) คลังสินค้าที่มีพื้นที่ 200 ตารางเมตร
(2) อาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกัน 1,000 ตารางเมตร
(3) โรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้าหรือเทียบเท่า
ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
(4) อาคารที่มีความสูงเกิน 18 เมตร
(5) สถานที่เก็บและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วย
การเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง
(6) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และสถานีบริการ ตาม
กฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
(7) ฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
(8) สถานที่เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือ
หลายหลังรวมกันเกิน 20 ตารางเมตร
การวัดความสูงให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ 3 กฎกระทรวงนี้ไม่ใช้บังคับแก่การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยน
การใช้อาคารชนิดและประเภท ดังต่อไปนี้
(1) อาคารหรือสถานที่ของทางราชการ
(2) อาคารหรือสถานที่ขององค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ใช้
ในกิจการขององค์การหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(3) เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้ว กำแพงและประตู
ข้อ 4 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้าม
ตามที่กำหนดในข้อ 2
ข้อ 5 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามข้อ 2 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้าม
ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มี
ลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 2
ข้อ 6 อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้น ก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อ กำหนดบริเวณ
ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ในท้องที่บางส่วนของตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน ตำบลศาลายา อำเภอ
นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และแขวงศาลาธรรมสพพ์ แขวงทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน
กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ใช้บังคับและยังก่อสร้าง
ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม
กฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้
ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2530
พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนของตำบล
บางกระทึก อำเภอสามพราน ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
และแขวงศาลาธรรมสพพ์ แขวงทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ลงวันที่
18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2529
แต่มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มี
การออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผล
ใช้บังคับ ให้ประกาศดังกล่าวเป็นอันยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภท ภายในบริเวณดังกล่าวต่อไปนี้
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[11]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2530)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (11) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้กำหนดพื้นที่ในท้องที่ตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางกอบัว ตำบลบางยอ
ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลทรงคนอง และตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง
จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารชนิดและประเภท ดังต่อไปนี้
(1) คลังสินค้า
(2) โรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้าหรือเทียบเท่า
ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
(3) ท่าจอดเรือสำหรับเรือขนาดเกิน 100 ตันกรอสส์
(4) ห้องแถว ตึกแถว เว้นแต่เป็นการก่อสร้างทดแทนอาคารเดิมโดยมี
พื้นที่ไม่มากกว่าพื้นที่ของอาคารเดิม และมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร
(5) อาคารที่ใช้สำหรับประกอบกิจการการค้าหรือธุรกิจบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่ง
(ก) มีระยะห่างจากอาคารข้างเคียงด้านใดด้านหนึ่งน้อยกว่า 4 เมตร
(ข) มีความสูงเกิน 15 เมตร
(ค) มีพื้นที่อาคารชั้นล่างเกิน 100 ตารางเมตร
การวัดความสูงให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ 2 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ห้ามก่อสร้างอาคารใด ๆ ซึ่ง
(1) มีระยะห่างจากศูนย์กลางถนนสายเพชรหึง-บางกอบัว น้อยกว่า 12 เมตร
(2) มีระยะห่างจากศูนย์กลางถนนสาธารณะเฉพาะในท้องที่ตำบลทรงคนอง
น้อยกว่า 6 เมตร
(3) มีระยะห่างจากศูนย์กลางถนนสาธารณะเฉพาะในท้องที่ตำบลบางกะเจ้า
ตำบลบางกอบัว ตำบลบางยอ ตำบลบางน้ำผึ้ง และตำบลบางกระสอบ น้อยกว่า
8 เมตร
(4) มีระยะห่างจากริมคู คลอง หรือลำกระโดงสาธารณะ น้อยกว่า 6 เมตร
(5) มีที่ว่างโดยรอบอาคารน้อยกว่าร้อยละ 75 ของที่ดินแปลงนั้น
ทั้งนี้ เว้นแต่เขื่อน ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้ว กำแพง ประตู และสะพาน
ที่ไม่ได้สร้างลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ข้อ 3 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้าม
ตามที่กำหนดในข้อ 1 และข้อ 2
ข้อ 4 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่
ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภท
ที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 1 และข้อ 2
ข้อ 5 อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณ
ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ในท้องที่บางส่วนในตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางกอบัว ตำบลบางยอ ตำบลบางน้ำผึ้ง
ตำบลทรงคนอง และตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ลงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือ
เปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่
จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2530
สันติ ชัยวิรัตนะ
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
บางกะเจ้า ตำบลบางกอบัว ตำบลบางยอ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลทรงคนอง
และตำบลบางกระสอบ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 6
มิถุนายน 2529 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2529 แต่มาตรา 13
แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวง
หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ ให้ประกาศ
ดังกล่าวเป็นอันยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้างดัดแปลงใช้หรือเปลี่ยนการ
ใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทภายในบริเวณดังกล่าวต่อไป จึงจำเป็นต้อง
ออกกฎกระทรวงนี้
*[13]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2531)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`บริเวณที่ 1' หมายความว่า
(1) พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากเขตทางทั้งสองข้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408
ในเขตตำบลสทิงหม้อและตำบลหัวเขา ออกไปข้างละ 15 เมตร
(2) พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากเขตทางทั้งสองข้างของทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 408 ในเขตตำบลพะวง ออกไปข้างละ 15 เมตร โดยเริ่มจาก
แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 407 ไปทางทิศเหนือเป็นระยะ 900 เมตร
(3) พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากเขตทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408
บนเกาะยอ ไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะ 15 เมตร ไปทางทิศตะวันออกจนจด
แนวชายฝั่ง และออกไปในทะเลสาบอีกเป็นระยะ 100 เมตร
`บริเวณที่ 2' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณเกาะยอทั้งหมดเว้นแต่พื้นที่
บริเวณที่ 1
ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 ให้กำหนดพื้นที่ในท้องที่ในตำบลหัวเขา ตำบลสทิงหม้อ ตำบลเกาะยอ
และตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ภายในบริเวณแนวเขตตาม
แผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารชนิดและประเภท ดังต่อไปนี้
(ก) ภายในบริเวณที่ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคารอื่นใด เว้นแต่
(1) อาคารเดี่ยวชั้นเดียวที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร และมีที่ว่าง
โดยรอบอาคารไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
(2) เขื่อน สะพาน ท่าจอดเรือ ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้ว กำแพง
และประตู
(ข) ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
(2) โรงงานหรืออาคารที่ใช้เพื่อการอุตสาหกรรมทุกประเภทที่มีพื้นที่
รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกิน 100 ตารางเมตร
(3) โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิด
แต่การเล่นมหรสพ
(4) สถานีขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
(5) อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกัน
เกิน 100 ตารางเมตร
(6) อาคารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดใน
หลังเดียวกันเกิน 2000 ตารางเมตร
(7) ตลาดที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกิน 300 ตารางเมตร
(8) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และสถานีบริการ ตาม
กฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
(9) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการเก็บรักษา
น้ำมันเชื้อเพลิง
(10) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือป้ายทุกชนิด เว้นแต่ป้าย
บอกชื่อสถานที่ที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร
(11) อาคารเก็บสินค้า หรืออาคารที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน
ที่ใช้เป็นที่เก็บ พัก หรือขนถ่ายสินค้าหรือสิ่งของเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือ
อุตสาหกรรม
(12) โรงกำจัดมูลฝอย
การวัดความสูงให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ 3 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้าม
ที่กำหนดตามข้อ 2
ข้อ 4 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้าม
ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มี
ลักษณะต้องห้ามที่กำหนดตามข้อ 2
ข้อ 5 อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณ
ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ในท้องที่บางส่วนในตำบลหัวเขา ตำบลสทิงหม้อ ตำบลเกาะยอ และตำบลพะวง
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับ
ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตให้เป็น
การขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531
เสนาะ เทียนทอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
หัวเขา ตำบลสทิงหม้อ ตำบลเกาะยอ และตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา
จังหวัดสงขลา ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่
วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2530 แต่มาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติ
ท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ ให้ประกาศดังกล่าวเป็น
อันยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
บางชนิดหรือบางประเภทภายในบริเวณดังกล่าวต่อไป จึงจำเป็นต้องออก
กฎกระทรวงนี้
*[14]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2532)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`บริเวณที่ 1' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเล
ด้านตะวันตกของเกาะภูเก็ตลงไปในทะเลเป็นระยะ 100 เมตร และจากแนว
ชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 50 เมตร เริ่มตั้งแต่เหนือสุดของ
เกาะภูเก็ตลงไปทางทิศใต้จนบรรจบกับแนวเขตควบคุมอาคารด้านทิศใต้ซึ่งอยู่
กิโลเมตรที่ 3 x 455 ของทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4024 ยกเว้นพื้นที่ตาม
กฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522
`บริเวณที่ 2' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ 1
ด้านที่อยู่บนแผ่นดินออกไปอีกเป็นระยะ 150 เมตร ตลอดแนว
`บริเวณที่ 3' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ 2
ออกไปอีกเป็นระยะ 300 เมตร ตลอดแนว
ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 ให้กำหนดพื้นที่ในท้องที่ตำบลไม้ขาว ตำบลสาคู ตำบลเชิงทะเล
อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ และตำบลกะรน ตำบลราไวย์
อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ภายในบริเวณแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้
เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารชนิดและประเภท ดังต่อไปนี้
(ก) ภายในบริเวณที่ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคารอื่นใด เว้นแต่
(1) อาคารประเภทบ้านเดี่ยวชั้นเดียวมีความสูงไม่เกิน 6 เมตร
พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร และมีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่า
ร้อยละ 75 ของที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
(2) เขื่อน ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้ว กำแพง ประตู และ สะพาน
ที่ไม้ได้สร้างลงสู่ทะเล
(3) ท่าเทียบเรือ อาคารหรือสถานที่ของทางราชการ
(ข) ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
(2) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นใน
หลังเดียวกันเกิน 100 ตารางเมตร
(3) โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิด
แต่การเล่นมหรสพ
(4) สถานีขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
(5) อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกัน
หรือหลายหลังเกิน 10 ตารางเมตร
(6) อาคารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกิน
2,000 ตารางเมตร
(7) ตลาดที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังเกิน
300 ตารางเมตร หรือตลาดที่มีระยะห่างจากตลาดอื่นน้อยกว่า 50 เมตร
(8) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และสถานีบริการตาม
กฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
(9) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการเก็บ
รักษาน้ำมันเชื้อเพลิง
(10) สถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนเกิน 5 เตียง
(11) ศาสนสถานและสถานศึกษา
(12) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายทุกชนิดเว้นแต่
ป้ายบอกชื่อสถานที่ที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร
(13) อาคารที่สร้างด้วยวัสดุไม่ถาวรหรือไม่ทนไฟเป็นส่วนใหญ่
เว้นแต่เป็นอาคารประเภทบ้านเดี่ยวชั้นเดียวที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร
และต้องมีระยะห่างจากอาคารอื่นโดยรอบไม่น้อยกว่า 5 เมตร
(14) เพิงหรือแผงลอย
(15) อาคารที่มีที่ว่างในที่ดินแปลงที่ก่อสร้างอาคารน้อยกว่าร้อยละ
50 ของเนื้อที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
(16) ห้องแถวหรือตึกแถว
(17) ฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
(18) อาคารเก็บสินค้า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มี
ลักษณะในทำนองเดียวกันที่ใช้เป็นที่เก็บ พัก หรือขนถ่ายสินค้าหรือสิ่งของเพื่อ
ประโยชน์ทางการค้าหรืออุตสาหกรรม
(19) โรงกำจัดมูลฝอย
(ค) ในบริเวณที่ 3 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารตาม (ข) (2) และ (5)
(2) อาคารตาม (ข) (18) ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกัน
หรือหลายหลังเกิน 200 ตารางเมตร
(3) อาคารที่มีที่ว่างในที่ดินแปลงที่ก่อสร้างอาคารน้อยกว่าร้อยละ
30 ของเนื้อที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
การวัดความสูงให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ 3 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้าม
ที่กำหนดตามข้อ 2
ข้อ 4 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้าม
ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มี
ลักษณะต้องห้ามที่กำหนดตามข้อ 2
ข้อ 5 อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้น ก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณ
ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ในท้องที่บางส่วนในตำบลไม้ขาว ตำบลสาคู ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง
ตำบลกมลา ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ และตำบลกะรน ตำบลราไวย์ อำเภอ
เมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2531 ใช้บังคับ และ
ยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้อง
ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการขออนุญาตให้เป็นการขัดต่อ
กฎกระทรวงนี้ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2532
เสนาะ เทียนทอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
ไม้ขาว ตำบลสาคู ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลป่าตอง
อำเภอกะทู้ และตำบลกะรน ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2531 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์
พ.ศ. 2531 แต่มาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายใน
หนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ ให้ประกาศดังกล่าวเป็นอันยกเลิก
และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือ
บางประเภทภายในบริเวณดังกล่าวต่อไป จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[15]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2532)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกรณีที่มีการติดตั้งลูกกรง เหล็กดัด หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนอง
เดียวกันที่ประตู หน้าต่าง หรือที่ด้านนอกหรือด้านในของอาคารตั้งแต่ชั้นที่สอง
ขึ้นไป ไม่ว่าจะติดตั้งก่อน หรือใน หรือหลังวันที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ อันเป็นการขัดต่อข้อ 21 ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4
(พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2530) ออกตามความ
ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งทำให้อาคารนั้นมีสภาพที่อาจ
เป็นภยันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของ
หรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามข้อ 21 ทวิ แห่งกฎกระทรวง
ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2530) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่เจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควร
เจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจขยายเวลาออกไปอีกได้ แต่ต้องไม่เกินเก้าสิบวัน
คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขอาคารตามวรรคหนึ่งให้ใช้แบบ ค.23 ท้าย
กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522
ข้อ 2 ก่อนสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการแก้ไขตาม
ข้อ 1 ให้นายตรวจซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมอบหมาย หรือนายช่างไปตรวจสอบ
สภาพอาคารดังกล่าว และรายงานผลการตรวจสอบต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
รายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วยแบบแปลนและรูปด้านของอาคาร
ที่จำเป็น วิธีการในการแก้ไข และระยะเวลาที่ต้องใช้ในการแก้ไข
ให้ไว้ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2532
เสนาะ เทียนทอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
----------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้เจ้าพนักงาน
ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการแก้ไขอาคาร
ที่ติดตั้งลูกกรง เหล็กดัด หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งทำให้อาคาร
นั้นมีสภาพที่อาจเป็นภยันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย และโดยที่มาตรา 46 วรรคหนึ่ง
บัญญัติให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องดังกล่าวในกฎกระทรวง
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[16]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2532)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`บริเวณที่ 1' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเล
ของเกาะสมุยเข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 50 เมตร ตลอดแนวชายฝั่งทะเล
เว้นแต่
(1) พื้นที่บ้านตลาดแม่น้ำ ตำบลแม่น้ำ ที่วัดจากแนวศูนย์กลางถนนแม่น้ำ 1
ไปทางทิศตะวันออก เป็นระยะ 300 เมตร และไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะ
200 เมตร
(2) พื้นที่บ้านบ่อผุด ตำบลบ่อผุด ที่วัดจากแนวศูนย์กลางถนนบ่อผุด 1
ไปทางทิศตะวันออก เป็นระยะ 150 เมตร และไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะ
800 เมตร
(3) พื้นที่บ้านหัวถนน ตำบลมะเร็ต ที่วัดจากหลักที่ดิน ฏ 5305
ไปทางทิศเหนือ เป็นระยะ 900 เมตร และไปทางทิศใต้ เป็นระยะ 600 เมตร
(4) พื้นที่บ้านบางเก่า ตำบลหน้าเมือง ที่วัดจากแนวศูนย์กลางถนนบางเก่า
ไปทางทิศตะวันออก เป็นระยะ 300 เมตร และไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะ
500 เมตร
(5) พื้นที่บ้านท้องกรูด ตำบลตลิ่งงาม ที่วัดจากหลักกิโลเมตรที่ 8 ของ
ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4170 ไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะ 600 เมตร
และไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะ 500 เมตร
(6) พื้นที่บ้านท้องโตนด ตำบลตลิ่งงาม ที่วัดจากแนวศูนย์กลางถนนท้องโตนด
ไปทางทิศตะวันออก เป็นระยะ 250 เมตร และไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะ
250 เมตร
(7) พื้นที่บ้านหน้าทอน ตำบลอ่างทอง ที่วัดจากกึ่งกลางสะพานท่าเทียบเรือ
หน้าทอน ไปทางทิศเหนือ เป็นระยะ 1,000 เมตร และไปทางทิศใต้ เป็นระยะ
1,000 เมตร
`บริเวณที่ 2' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเล
ของเกาะสมุย เกาะพะลวย และเกาะแตน เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 200 เมตร
ตลอดแนวชายฝั่งทะเล เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 1
`บริเวณที่ 3' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณเกาะสมุย เกาะพะลวย และ
เกาะแตน เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 1 และบริเวณที่ 2
ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 ให้กำหนดพื้นที่ในท้องที่ตำบลแม่น้ำ ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบล
หน้าเมือง ตำบลตลิ่งงาม ตำบลลิปะน้อย และตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายในบริเวณแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นบริเวณ
ห้ามก่อสร้างอาคารชนิดและประเภท ดังต่อไปนี้
(ก) ภายในบริเวณที่ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคารอื่นใด เว้นแต่
(1) อาคารเดี่ยวชั้นเดียวที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร พื้นที่อาคาร
รวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร และมีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่าร้อยละ 75
ของที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น และต้องห่างจากชายฝั่งทะเลอย่างน้อย
10 เมตร
(2) เขื่อน ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้วหรือกำแพงที่สูงไม่เกิน 1 เมตร
ประตูและสะพานที่ไม่ได้สร้างลงสู่ทะเล
(3) ท่าเทียบเรือของทางราชการ
(ข) ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
(2) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
(3) โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่
การเล่นมหรสพ
(4) อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกัน
หรือหลายหลังเกิน 10 ตารางเมตร
(5) อาคารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดใน
หลังเดียวกันเกิน 2,000 ตารางเมตร
(6) ตลาดที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังเกิน
300 ตารางเมตร
(7) โรงซ่อม สร้าง หรือบริการยวดยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์
ทุกชนิด ซึ่งไม่ใช่โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
(8) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายทุกชนิด เว้นแต่ป้าย
บอกชื่อสถานที่ที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร
(9) อาคารที่สร้างด้วยวัสดุไม่ถาวรหรือไม่ทนไฟเป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่
อาคารเดี่ยวชั้นเดียวที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร และต้องมีระยะห่างจากอาคารอื่น
โดยรอบไม่น้อยกว่า 5 เมตร
(10) เพิงหรือแผงลอย
(11) อาคารที่มีที่ว่างในที่ดินแปลงที่ก่อสร้างอาคารน้อยกว่าร้อยละ 50
ของเนื้อที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
(12) ห้องแถวหรือตึกแถว
(13) ฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
(14) อาคารเก็บสินค้า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใด ของอาคารที่มี
ลักษณะในทำนองเดียวกันที่ใช้เป็นที่เก็บ พัก หรือขนถ่ายสินค้า หรือสิ่งของเพื่อ
ประโยชน์ทางการค้าหรืออุตสาหกรรมที่มีพื้นที่อาคารรวมกันเกิน 100 ตารางเมตร
(15) โรงกำจัดมูลฝอย
(ค) ภายในบริเวณที่ 3 ห้ามก่อสร้างโรงงานทุกประเภท เว้นแต่โรงงาน
ที่ประกอบกิจการโดยไม่ก่อเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข หรือ
ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม
การวัดความสูงให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ 3 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้าม
ที่กำหนดตามข้อ 2
ข้อ 4 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้าม
ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มี
ลักษณะต้องห้ามที่กำหนดตามข้อ 2
ข้อ 5 อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วย
การควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนั้นก่อน
วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
แม่น้ำ ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลหน้าเมือง ตำบลตลิ่งงาม ตำบลลิปะน้อย
และตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 26 กันยายน
พ.ศ. 2531 ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ
ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาต
ให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2532
เสนาะ เทียนทอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
แม่น้ำ ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลหน้าเมือง ตำบลตลิ่งงาม ตำบลลิปะน้อย
และตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 26 กันยายน
พ.ศ. 2531 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2531 แต่มาตรา 13
วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มี
การออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผล
ใช้บังคับ ให้ประกาศดังกล่าวเป็นอันยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทภายในบริเวณดังกล่าวต่อไป
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[17]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2533)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ให้ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ติดหรือตั้งไว้ในระยะห่าง
จากที่สาธารณะซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้ว ระยะห่างจากที่สาธารณะมีน้อยกว่า
ความสูงของป้ายนั้นเมื่อวัดจากพื้นดิน และมีขนาดความกว้างของป้ายเกินห้าสิบ
เซนติเมตรหรือยาวเกินหนึ่งเมตรหรือเนื้อที่ของป้ายเกินห้าพันตารางเซนติเมตร
หรือมีน้ำหนักของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินสิบกิโลกรัม เป็นอาคารตามมาตรา 4
ให้ไว้ ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2533
บรรหาร ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
----------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติให้ `อาคาร'
หมายความรวมถึงป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ติดหรือตั้งไว้
ในระยะห่างจากที่สาธารณะซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้ว ระยะห่างจากที่สาธารณะ
มีน้อยกว่าความสูงของป้ายเมื่อวัดจากพื้นดินและมีขนาดหรือมีน้ำหนักเกินที่กำหนด
ในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[18]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2533)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้กำหนดพื้นที่ในบริเวณที่วัดจากเขตทางทั้งสองข้างของทางหลวง
แผ่นดินหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) ออกไปข้างละ 15 เมตร โดยเริ่มจาก
เขตคลองประปาด้านตะวันตก ไปทางทิศตะวันตก จนจดเขตทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ด้านตะวันออก บริเวณห้าแยกปากเกร็ด ใน
ท้องที่ตำบลปากเกร็ด และตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ภายในบริเวณแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นบริเวณห้ามก่อสร้าง
อาคารชนิดและประเภทดังต่อไปนี้
(1) ห้องแถว
(2) ตลาด
(3) อาคารเก็บสินค้า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีลักษณะ
ในทำนองเดียวกันที่ใช้เป็นที่เก็บ พัก หรือขนถ่ายสินค้าหรือสิ่งของเพื่อประโยชน์
ทางการค้าหรืออุตสาหกรรม
(4) โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่
การเล่นมหรสพ
(5) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
(6) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(7) โรงซ่อมหรือโรงพ่นสีรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์
(8) โรงงานทุกประเภท เว้นแต่โรงงานที่ประกอบกิจการโดยไม่ก่อ
เหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข หรือไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือ
สิ่งแวดล้อม และเป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมไม่เกินสิบแรงม้าหรือ
เทียบเท่า หรือใช้คนงานไม่เกินสิบคน
(9) อาคารขนาดใหญ่
ข้อ 2 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้าม
ตามที่กำหนดในข้อ 1
ข้อ 3 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้าม
ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มี
ลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 1
ข้อ 4 อาคารที่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณ
ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ในท้องที่บางส่วนในตำบลปากเกร็ด และตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด
จังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง
ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม
กฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้
ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533
บรรหาร ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
ปากเกร็ด และตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 24
พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532
แต่มาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า
ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้น
มีผลใช้บังคับ ให้ประกาศดังกล่าวเป็นอันยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้าง
ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทภายในบริเวณดังกล่าว
ต่อไป จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2533)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้กำหนดพื้นที่ในบริเวณที่วัดจากเขตทางทั้งสองข้างของทางหลวง
แผ่นดินหมายเลข 302 (ถนนรัตนาธิเบศร์) ออกไปข้างละ 15 เมตร โดยเริ่ม
จากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 (ถนนบางบัวทอง-ตลิ่งชัน) ด้านตะวันออก
ไปทางทิศตะวันออก จนจดเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์)
ด้านตะวันตก บริเวณที่สี่แยกแคลาย ในท้องที่ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่
ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และตำบลบางรักน้อย ตำบลไทรม้า ตำบล
บางกระสอ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ภายในบริเวณ
แนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารชนิดและ
ประเภท ดังต่อไปนี้
(1) ห้องแถว ตึกแถว
(2) ตลาด
(3) อาคารเก็บสินค้า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีลักษณะ
ในทำนองเดียวกันที่ใช้เป็นที่เก็บ พัก หรือขนถ่ายสินค้าหรือสิ่งของเพื่อประโยชน์
ทางการค้าหรืออุตสาหกรรม
(4) โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่
การเล่นมหรสพ
(5) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
(6) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(7) โรงซ่อมหรือโรงพ่นสีรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์
(8) โรงงานทุกประเภท เว้นแต่โรงงานที่ประกอบกิจการโดยไม่ก่อ
เหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข หรือไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือ
สิ่งแวดล้อม และเป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมไม่เกินสิบแรงม้าหรือ
เทียบเท่า หรือใช้คนงานไม่เกินสิบคน
(9) อาคารขนาดใหญ่
(10) อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
การวัดความสูงให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ 2 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้าม
ตามที่กำหนดในข้อ 1
ข้อ 3 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้าม
ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มี
ลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 1
ข้อ 4 อาคารที่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณ
ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ในท้องที่บางส่วนในตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอ
บางบัวทอง และตำบลบางรักน้อย ตำบลไทรม้า ตำบลบางกระสอ ตำบลตลาดขวัญ
อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532
ใช้บังคับและยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับ
ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตให้เป็น
การขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533
บรรหาร ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
เสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และตำบล
บางรักน้อย ตำบลไทรม้า ตำบลบางกระสอ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี
จังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 แต่มาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติ
ท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ ให้ประกาศดังกล่าวเป็น
อันยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
บางชนิดหรือบางประเภทภายในบริเวณดังกล่าวต่อไป จึงจำเป็นต้องออก
กฎกระทรวงนี้
*[19]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2534)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2528) ออกตาม
ความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้
`บริเวณที่ 1' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณรอบนอกเขตพระราชวัง
บางปะอิน ในระยะ 500 เมตร
`บริเวณที่ 2' หมายความว่า
พื้นที่ในบริเวณเขตสุขาภิบาลบ้านเลน เว้นแต่บริเวณที่ 1
พื้นที่ในเขตตำบลบ้านกลึง ตำบลกระแชง ตำบลช้างน้อย ตำบลบ้านแป้ง
และตำบลสนามชัย อำเภอบางไทร ซึ่งวัดจากริมฝั่งแม่น้ำน้อย ฝั่งตะวันออก
ไปทางทิศตะวันออก เป็นระยะ 500 เมตร โดยด้านเหนือจดแนวเขตควบคุม
อาคารด้านตะวันตก และด้านใต้จดแม่น้เจ้าพระยา ฝั่งเหนือ และพื้นที่ในเขต
ตำบลช้างใหญ่ ตำบลโพแตง และตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางไทร ซึ่งวัดจาก
บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออก ไปทางทิศตะวันออกจนจดถนนบางไทร
เชียงรากน้อย ฟากตะวันตก โดยด้านเหนือจดแนวที่อยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินด้าน
ทิศเหนือของศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร เป็นระยะ 1,000 เมตร และด้านใต้
จดแนวเขตควบคุมอาคารด้านใต้
`บริเวณที่ 3' หมายความว่า
พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ออกไป
ทั้งสองข้าง ข้างละ 1,000 เมตร โดยด้านเหนือจดแนวเขตควบคุมอาคารด้านเหนือ
และด้านใต้ จดเส้นขนานระยะ 1,000 เมตร กับแนวศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 37 และแนวศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน)
พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309
(ถนนโรจนะ) ออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ 1,000 โดยด้านเหนือจดแนวเขตควบคุม
อาคารด้านเหนือ และด้านใต้จดเส้นขนานระยะ 1,000 เมตร กับแนวศูนย์กลาง
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ทั้งนี้ ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณเขต
สุขาภิบาลลำตาเสา อำเภอวังน้อย
พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1
(ถนนพหลโยธิน) ออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ 1,000 เมตร โดยด้านตะวันออก
จดเขตสุขาภิบาลลำตาเสา อำเภอวังน้อย และด้านตะวันตกจดเส้นตั้งฉากกับ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ที่จุดซึ่งอยู่ห่างจากทางหลวง
แผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) บรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 308
ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน)
เป็นระยะ 200 เมตร
พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 308
ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะ 1,000 เมตร โดยด้านเหนือจด
เส้นตั้งฉากกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 308 ที่จุดซึ่งอยู่ห่างจากทางรถไฟ
สายเหนือตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 308 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 308 เป็นระยะ 800 เมตร และด้านใต้
จดเส้นขนานระยะ 1,000 เมตร กับแนวศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32
พื้นที่ในเขตตำบลบ้านเลน และตำบลคลองจิก อำเภอบางปะอิน ซึ่งด้านเหนือ
จดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 308 ฟากตะวันตก ด้านตะวันออก และด้านใต้
จดเส้นแบ่งเขตตำบลคลองจิกกับตำบลเชียงรากน้อย และแบ่งเขตตำบลคลองจิก
กับตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน และด้านตะวันตกจดทางรถไฟสายเหนือ
ฟากตะวันออก
`บริเวณที่ 4' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณแนวเขตควบคุมอาคาร
ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่บริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 บริเวณที่ 3 และ
บริเวณที่ 5
`บริเวณที่ 5' หมายความว่า
พื้นที่ในเขตตำบลบ้านกรด ตำบลขนอนหลวง ตำบลบ้านโพ และตำบล
บ้านหว้า อำเภอบางปะอิน ซึ่งเป็นบริเวณที่เริ่มจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่ง
ตะวันออก ไปทางทิศตะวันออก จนจดแนวเขตบริเวณที่ 3 ด้านทิศตะวันตก
พื้นที่ในเขตตำบลสามเรือน และตำบลบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน
ในบริเวณ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309
(ถนนโรจนะ) โดยเริ่มจาแนวเขตบริเวณที่ 3 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
จนจบแนวเขตควบคุมอาคารด้านเหนือ
พื้นที่ในบริเวณเขตสุขาภิบาลลำตาเสา อำเภอวังน้อย
พื้นที่ในเขตตำบลบ่อตาโล่ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย และตำบลคลองจิก
อำเภอบางปะอิน ซึ่งเป็นบริเวณที่ต่อจากเส้นขนานระยะ 1,000 เมตร กับแนว
ศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309 (ถนนโรจนะ) ทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32
พื้นที่ในเขตตำบลพยอม อำเภอวังน้อย ซึ่งเป็นบริเวณที่ต่อจากเส้นขนาน
ระยะ 1,000 เมตร กับแนวศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน)
พื้นที่ในเขตตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน ซึ่งด้านเหนือจดเส้นขนาน
ระยะ 2,000 เมตร กับแนวเขตพระราชวังบางปะอินด้านใต้ ด้านตะวันออก
จดทางรถไฟสายเหนือ ฟากตะวันตก ด้านใต้จดเส้นแบ่งเขตตำบลบ้านเลนและ
ตำบลบางกระสั้น และด้านตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก
พื้นที่ในเขตตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ด้าน
ทิศตะวันออกของทางรถไฟสายเหนือ
พื้นที่ในเขตตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอินและตำบลราชคราม
ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร ซึ่งเป็นบริเวณที่วัดจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ฝั่งใต้และฝั่งตะวันออก ออกไปเป็นระยะ 1,000 เมตร โดยด้านตะวันออก
จดถนนบางไทร-เชียงรากน้อย ฟากตะวันตก และด้านใต้จดแนวที่อยู่ห่างจาก
แนวเขตที่ดินด้านทิศเหนือของศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทรเป็นระยะ 1,000 เมตร
พื้นที่ในเขตตำบลบางกระสั้น ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน
ตำบลช้างใหญ่ อำเภอตำบลลำไทร ตำบลพยอม อำเภอวังน้อย ซึ่งเป็นบริเวณ
ที่วัดจากแนวศูนย์กลางทางหลวจังหวัดหมายเลข 3442 ทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 347 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1
(ถนนพหลโยธิน) ออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ 1,000 เมตร โดยด้านตะวันออก
จดเส้นตั้งฉากกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ที่จุดซึ่งห่างจาก
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) บรรจบกับทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 308 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เป็นระยะ 200 เมตร และด้านใต้และด้าน
ตะวันตกจดเส้นแบ่งเขตอำเภอบางปะอินกับอำเภอบางไทร
ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 3 ให้กำหนดพื้นที่ในท้องที่ตำบลบ้านกลึง ตำบลกระแชงตำบลช้างน้อย
ตำบลบ้านแป้ง ตำบลสนามชัย ตำบลราชคราม ตำบลช้างใหญ่ ตำบลโพแตง
ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอ บางไทร ตำบลปากกราน ตำบลคลองตะเคียน
ตำบลบ้านรุน ตำบลเกาะเรีย อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตำบลบางประแดง
ตำบลขนอนหลวง ตำบลบ้านกรด ตำบลคุ้งลาน ตำบลสามเรือน ตำบลบ้านสร้าง
ตำบลตลาดเกรียบ ตำบลบ้านโพ ตำบลวัดยม ตำบลบ้านหว้า ตำบลตลิ่งชัน
ตำบลบ้านแป้ง ตำบลบ้านเลน ตำบลบ้านพลับ ตำบลเกาะเกิด ตำบลคลองจิก
ตำบลบางกระสั้น ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน และตำบลลำตาเสา
ตำบลบ่อตาโล่ ตำบลลำไทร ตำบลพยอม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้าย กฎกระทรวงนี้เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้ซึ่งอาคารชนิด และประเภท ดังต่อไปนี้
(ก) ภายในบริเวณที่ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคารอื่นใด เว้นแต่
(1) อาคารที่พักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน 8 เมตร
(2) หอถังน้ำที่มีความสูงไม่เกิน 11 เมตร
(ข) ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) โรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้า หรือเทียบเท่า
ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
(2) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(3) คลังสินค้าที่มีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร
(4) อาคารที่มีความสูงเกิน 16 เมตร
(5) หอถังน้ำที่มีความสูงเกิน 19 เมตร
(ค) ภายในบริเวณที่ 3 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(2) อาคารที่มีความสูงเกิน 25 เมตร
(3) หอถังน้ำที่มีความสูงเกิน 28 เมตร
(ง) ภายในบริเวณที่ 4 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) โรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้า หรือเทียบเท่า
ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
(2) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(3) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมัน
เชื้อเพลิง
(4) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และสถานีบริการ ตามกฎหมาย
ว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
(5) โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่
การเล่นมหรสพ
(6) อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
(7) หอถังน้ำที่มีความสูงเกิน 15 เมตร
(จ) ภายในบริเวณที่ 5 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างอาคาร ดังต่อไปนี้
(1) โรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้า หรือเทียบเท่า
ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป เว้นแต่โรงงานที่ประกอบกิจการโดยไม่เป็น
มลพิษต่อชุมชน หรือ สิ่งแวดล้อม
(2) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(3) อาคารที่มีความสูงเกิน 25 เมตร เว้นแต่ไซโล
(4) หอถังน้ำที่มีความสูงเกิน 28 เมตร
การวัดความสูงให้วัดจากระดับถนน หรือขอบทางเท้าที่ใกล้ที่สุดถึงส่วนที่สูง
ที่สุดของอาคาร
ข้อ 4 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 3 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้าม
ที่กำหนดตามข้อ 3
ข้อ 5 กฎกระทรวงนี้ไม่ใช่บังคับแก่การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยน
การใช้อาคาร ดังต่อไปนี้
(1) อาคารหรือสถานที่ของทางราชการ
(2) อาคารหรือสถานที่ขององค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่ใช้ใน
กิจการขององค์การหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(3) ศาสนสถาน
(4) อาคารของศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ
(5) เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้วกำแพง และประตู
(6) อาคารของบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมกระดาษบางปะอิน จำกัด
ข้อ 6 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 3 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้าม
ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มี
ลักษณะต้องห้ามที่กำหนดตามข้อ 3
ข้อ 7 อาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยัง
ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติ
ตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้
ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2534
พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ในปัจจุบันท้องที่บางแห่งในอำเภอบางไทร อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอ
บางปะอิน และอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการเปลี่ยนแปลง
เกี่ยวกับสภาพการก่อสร้างและการใช้อาคารไปจากเดิน โดยเฉพาะพื้นที่บางส่วน
กำลังมีการพัฒนาและขยายตัวในด้านการก่อสร้างและการใช้อาคารอย่างรวดเร็ว
จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือการใช้อาคารในบริเวณดังกล่าวตามที่ได้กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 13
(พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่ง
ใช้บังคับในท้องที่ดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[20]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2534)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2522
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้กำหนดพื้นที่ดังต่อไปนี้
(1) พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากเขตทางทั้งสองข้างของทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 321 (ถนนมาลัยแมน) ออกไปข้างละ 16 เมตร โดยเริ่มจาก
เขตทางของถนนประชาธิปไตยด้านทิศตะวันออก ไปทางทิศตะวันออกจนจด
เขตทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 ด้านทิศตะวันตก ในท้องที่ตำบล
ท่าพี่เลี้ยง และตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และ
(2) พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากเขตทางทั้งสองข้างของทางหลวงจังหวัด
หมายเลข 3431 (ถนนนางแว่นแก้ว) ออกไปข้างละ 16 เมตร โดยเริ่มจาก
เขตทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 (ถนนมาลัยแมน) ด้านทิศใต้
ไปทางทิศใต้และทิศตะวันออกจนจดริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีด้านทิศตะวันตก ใน
ท้องที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นบริเวณห้ามก่อสร้าง
หรือดัดแปลงอาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ข้อ 2 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้าง
อาคารอื่นใด เว้นแต่
(1) ตึกแถวสามชั้นหรืออาคารเดี่ยวสามชั้น
(2) เขื่อน ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้ว กำแพง ประตูและสะพาน
ข้อ 3 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด
ในข้อ 2
ข้อ 4 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 1 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้าม
ดัดแปลงอาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่
กำหนดในข้อ 2
ข้อ 5 อาคารที่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้น ก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณ
ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท
ในท้องที่บางส่วนในตำบลรั้วใหญ่ และตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
จังหวัดสุพรรณบุรี ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2533 และประกาศกระทรวง
มหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
บางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
จังหวัดสุพรรณบุรี ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2533 ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง
ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม
กฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้
ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2534
พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
รั้วใหญ่และตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ลงวันที่
11 เมษายน พ.ศ. 2533 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2533
และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่บางส่วนในตำบล
สนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ลงวันที่ 28 กันยายน
พ.ศ. 2533 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2533 แต่มาตรา 13
วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่าถ้าไม่มีการ
ออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้
บังคับ ให้ประกาศดังกล่าวเป็นอันยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้างหรือ
ดัดแปลงอาคาบางชนิดหรือบางประเภทภายในบริเวณดังกล่าวต่อไปเพื่อประโยชน์
ในด้านการรักษาคุณภาพสิ่ง แวดล้อม การผังเมือง และการสถาปัตยกรรม
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
*[21]
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2534)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. 2534
------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (10) แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
`บริเวณที่ 1' หมายความว่า พื้นที่ระหว่างริมฝั่งแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก
กับเขตทางของถนนวังสิงห์คำ ฟากตะวันออก ถนนเจริญประเทศ ฟากตะวันออก
และถนนป่าแดด ฟากตะวันออก และพื้นที่ระหว่างริมฝั่งแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก
กับเขตทางของถนนฟ้าฮ่ามสามัคคี ฟากตะวันตก ถนนเจริญราษฎร์ ฟากตะวันตก
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ฟากตะวันตก และทางหลวงจังหวัดหมายเลข
1008 ฟากตะวันตก โดยด้านเหนือจดแนวเขตควบคุมอาคาร ด้านเหนือ และ
ด้านใต้จดแนวเขตควบคุมอาคารด้านใต้
`บริเวณที่ 2' หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณที่อยู่ในระยะ 100 เมตร
รอบนอกแนวเขตที่วัด เขตที่ดินของคริสตจักร หรือเขตที่ดินของมัสยิดหรือสุเหร่า
ของวัดพระนอนขอนม่วง วัดท่าเดื่อ คริสตจักรศิริวัฒนา วัดแม่หยวก วัดบ้านท่อ
วัดท่าหลุก วัดทางเหลียว วัดสันคะยอม วัดสันทราย วัดเมืองลัง วัดท่ากระดาษ
วัดสันทรายมูล วัดช่างเคี่ยน วัดโพธารามมหาวิหาร (เจ็ดยอด) วัดข่วงสิงห์
วัดป่าตัน วัดลังกา วัดประทานพร (อารามหนองใหม่) วัดสันติธรรม วัดกู่เต้า
วัดป่าแพ่ง วัดฟ้าฮ่าม วัดแม่คาว วัดกู่คำ วัดเชตุพน วัดศรีโขง มัสยิดดูร์นูร์
ช้างเผือก วัดเชียงยืน วัดป่าเป้า วัดชัยศรีภูมิ วัดเกตุการาม วัดป่าแดง
วัดสุคันธาราม วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) วัดสวนดอก วัดชมพู วัดอู่ทรายคำ
วัดเชตวัน วัดหนองคำ วัดแสนฝาง สภาคริสตจักรเชียงใหม่ วัดหนองป่าครั่ง
วัดบวกครกน้อย วัดมหาวัน วัดบุพพาราม วัดอุปคุตและพุทธสถานเชียงใหม่
สุเหร่าอิสลามเชียงใหม่ วัดสันป่าข่อย วัดพันตอง วัดลอยเคราะห์ วัดช่างฆ้อง
วัดท่าสะต๋อย วัดศรีดอนไชย วัดชัยมงคล วัดบวกครกหลวง วัดพวกเปีย
วัดศรีสุพรรณ วัดหมื่นสาร วัดพวกช้าง วัดเมืองมาง วัดดาวดึงษ์ วัดธาตุคำ
วัดเจดีย์เหล็ก วัดยางกวง วัดนันทาราม วัดหัวฝาย วัดเมืองกาย วัดตโปทาราม
(ร่ำเปิง) วัดโป่งน้อย วัดศรีปิงเมือง มัสยิดช้างคลานเชียงใหม่ คริสตจักร
เด่นดำรงธรรม วัดใหม่ห้วยทราย วัดป่าพร้าวนอก วัดเมืองสาตรหลวง
วัดเมืองสาตรน้อย วัดศรีบัวเงิน วัดดอนจั่น และวัดสันป่าเลียง เว้นแต่พื้นที่
บริเวณที่ 1 และพื้นที่ที่อยู่ภายในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่
ทั้งนี้ ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 ให้กำหนดพื้นที่ในท้องที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบลหนอดจ๊อม
ตำบลสันทรายน้อย ตำบลสันพระเนตร อำเภอสันทราย และตำบลสันผีเสื้อ ตำบล
ช้างเผือก ตำบลป่าตัน ตำบลฟ้าฮ่าม ตำบลสุเทพ ตำบลศรีภูมิ ตำบลช้างม่อย
ตำบลวัดเกตุ ตำบลหนองป่าครั่ง ตำบลช้างคลาน ตำบลหนองหอย ตำบลท่าศาลา
ตำบลหายยา ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ภายใน
บริเวณแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารชนิด
และประเภทดังต่อไปนี้
(ก) ภายในบริเวณที่ 1 อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร
(ข) ภายในบริเวณที่ 2 อาคารที่มีความสูงเกิน 16 เมตร
การวัดความสูงให้วัดจากระดับพื้นดินถึงยอดผนังหรือยอดฝาด้านที่สูงที่สุด
ของชั้นที่อยู่สูงที่สุด แต่ไม่นับรวมส่วนของผนังหรือฝาที่เป็นส่วนโครงสร้างของ
หลังคา
ข้อ 3 ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดดัดแปลง
อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 2
ข้อ 4 อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามข้อ 2 ก่อนหรือในวันที่
กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้าม
ดัดแปลงอาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่
กำหนดในข้อ 2
ข้อ 5 อาคารที่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะ
ว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณ
ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ใน
ท้องที่บางส่วนในตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบหนอดจ๊อม ตำบลสันทรายน้อย
ตำบลสันพระเนตร อำเภอสันทราย และตำบลช้างคลาน ตำบลช้างเผือก ตำบล
ช้างม่อย ตำบลสันผีเสื้อ ตำบลฟ้าฮ่าม ตำบลศรีภูมิ ตำบลสุเทพ ตำบลวัดเกตุ
ตำบลหนองป่าครั่ง ตำบลป่าตัน ตำบลท่าศาลา ตำบลป่าแดด ตำบลหนองหอย
ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 24 เมษายน
พ.ศ. 2533 ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ
ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาต
ให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2534
พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
-------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง
หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในท้องที่บางส่วนในตำบล
ดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบลหนอดจ๊อม ตำบลสันทรายน้อย ตำบลสันพระเนตร
อำเภอสันทราย และตำบลช้างคลาน ตำบลช้างเผือก ตำบลช้างม่อย ตำบล
สันผีเสื้อ ตำบลฟ้าฮ่าม ตำบลศรีภูมิ ตำบลสุเทพ ตำบลวัดเกตุ ตำบลหนองป่าครั่ง
ตำบลป่าตัน ตำบลท่าศาลา ตำบลป่าแดด ตำบลหนองหอย ตำบลหายยา อำเภอ
เมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2533 ซึ่งมีผล
ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 แต่มาตรา 13 วรรคสอง แห่ง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า ถ้าไม่มีการออกกฎกระทรวง
หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ ให้ประกาศ
ดังกล่าวเป็นอันยกเลิก และโดยที่สมควรห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิด
หรือบางประเภทภายในบริเวณดังกล่าวต่อไป เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษา
คุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการสถาปัตยกรรม จึงจำเป็นต้องออก
กฎกระทรวงนี้
บทเฉพาะกาล
--------------------
กฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจาก
กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุม
อาคาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดยกเว้นให้เฉพาะอาคารที่เกี่ยวกับความมั่นคง
ในทางราชการทหารหรือตำรวจเท่านั้นที่ไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องปฏิบัติให้
ถูกต้องตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
แต่โดยที่อาจมีอาคารของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการ หรือใช้เพื่อ
สาธารณประโยชน์และอาคารที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ หรืออาคาร
ที่ทำการของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล
ต่างประเทศ ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการยกเว้นดังกล่าว สมควรให้คณะรัฐมนตรี
มีอำนาจอนุญาตให้อาคารนั้นได้รับยกเว้นได้ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษ จึงจำเป็น
ต้องออกกฎกระทรวงนี้
--------------------
กฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพระราชบัญญัติ
ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่
ปรากฏว่าผู้ที่อยู่ในอาคารที่มีการติดตั้งลูกกรง เหล็กดัด หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะ
ทำนองเดียวกันที่ประตู หน้าต่าง หรือที่ด้านนอกหรือด้านในของอาคาร อันเป็น
การกีดขวางการหนีออกจากอาคารหรือการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในอาคารเมื่อเกิด
อัคคีภัย ต้องเสียชีวิตอยู่เนือง ๆ เนื่องจากไม่สามารถหนีออกสู่ภายนอกอาคาร
ได้ทัน สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการติดตั้งลูกกรง เหล็กดัด หรือสิ่งอื่นดังกล่าว
ที่ประตู หน้าต่าง หรือที่ด้านนอกหรือด้านในของอาคารเพื่อป้องกันมิให้เกิด
อันตรายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
เชิงอรรถ
--------------------
*[1] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2526) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[2] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[3] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2527) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[4] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[5] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[6] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[7] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[8] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2529) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[9] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2529) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[10] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2530) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[11] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2530) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[12] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2530) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[13] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2531) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[14] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2532) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[15] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2532) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[16] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2532) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[17] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2533) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[18] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2533) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2533) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[19] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[20] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
*[21] แก้ไขโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
|